ข่าว ครูบัญชีอาสา/เกษตรก้าวไกล–ได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี กับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พบเกษตรกรหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ คุณทองใส สมศรี อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 3 ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี มีอาชีพทำสวนผลไม้แบบผสม และอีกฐานะได้ทำงานเป็นครูบัญชีอาสา มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ครูทองใส สมศรี กับบทบาทใหม่ ในฐานะครูบัญชีของเพื่อนๆเกษตรกร
ครูทองใส สมศรี กับบทบาทใหม่ ในฐานะครูบัญชีของเพื่อนๆเกษตรกร
โรงทำน้ำหมักคุณภาพสูง
โรงทำน้ำหมักคุณภาพสูง

จากเกษตรเคมี สู่เกษตรอินทรีย์

ก่อนที่ชีวิตจะก้าวมาถึงวันนี้ คุณทองใส เล่าให้ฟังว่าบ้านเดิมอยู่จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่จันทบุรี ในปี 2528 โดยเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อเริ่มทำการเกษตร ก็ทำสวนแบบพึ่งทุนนิยม ใช้ปุ๋ยเคมี และเป็นหนี้ค่าปุ๋ยจากร้านค้า พอขายผลผลิตได้เงินก็เอาไปใช้หนี้ปุ๋ยยา พอถึงฤดูการผลิตใหม่ก็ไปใช้เครดิตเอาปุ๋ยยามาใช้ก่อน (ซื้อแบบเครดิต คือ ไปเอาปุ๋ย ยามาก่อน แล้วจ่ายคืนตอนจำหน่ายผลผลิตแล้ว) ทำให้ไม่มีเงินเก็บเลย บางปีก็แทบจะไม่เหลือ

“เราก็ไม่รู้ว่าจะทำแบบไหน ไม่รู้ต้นทุนตัวเอง ถึงเวลาก็ไปเชื่อปุ๋ย ยา จากร้านค้ามา ไม่ได้จด เรารู้ว่าตัวเลขอยู่ที่เขา พอทำเสร็จถึงปีเก็บผลผลิตไปขาย สรุปออกมา คือต้นทุนสูง แต่ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้เลย ไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่าทุนไปจมอยู่ตรงไหน เพราะเราไม่เคยจดบันทึก ไม่เคยทำบัญชี ซึ่งต้นทุนการผลิตเกือบ 1 แสนบาท/ปี”

การทำเกษตรแบบเดิมที่เคยทำมาทำให้มองเห็นว่ามีต้นทุนที่สูง อำนาจการต่อรองต่างๆอยู่ที่พ่อค้าขายปุ๋ยยา และพ่อค้าคนกลาง จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนใหม่ นั้นก็คือปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี มาทำเกษตรแบบอินทรีย์ และนำบัญชีมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต…

“หลังจากนั้นก็เลยมาคิดว่าจะทำแบบไหนเราถึงจะมีเงินเหลือ มีวันหนึ่งได้ดูรายการจากทางทีวีเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เห็นเขาปลูกพืชผสมผสาน ทำในแบบเกษตรอินทรีย์ แล้วก็มาคิดอีกว่าทำอย่างไรเราถึงจะทำเป็น จึงได้เข้าอบรมต่างๆเพื่อเรียนรู้การทำเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการทำน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต”

บ่อน้ำโบราณ...หัวใจของสวนผลไม้ครูทองใส
บ่อน้ำโบราณ…หัวใจของสวนผลไม้ครูทองใส

การทำสวนแบบผสมผสานของคุณทองใส เน้นสวนผลไม้เป็นหลัก ซึ่งมีพื้นที่สวนทั้งหมด 10 ไร่ ได้ปลูกมังคุด  150 ต้น เงาะ 70 ต้น ทุเรียน 20 ต้น ลองกอง 20 ต้น ที่เหลือยังมีปลูกผักสวนครัว และยังเลี้ยงหมูไว้เอาปุ๋ย เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงผึ้ง ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนำมาซึ่งความพออยู่พอกินและการศึกษาดูงานของผู้สนใจ โดยจะมีฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหลากหลายกิจกรรม อาทิ การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง การรวมกลุ่มผลิตเงาะ มังคุดคุณภาพ (ที่บ้านคุณทองใสจะเป็นสถานที่ประมูลมังคุดด้วย) การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการจำหน่ายสินค้า ซึ่งพื้นที่สวนส่วนหนึ่งที่อยู่ด้านหน้าตรงที่ติดกับถนนนอกจากจะเป็นบ้านพัก ยังศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)

เบื้องหลังความสำเร็จไม่เพียงแต่การทำสวนแบบผสมผสานที่ลดความเสี่ยงในเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และการทำสวนแบบอินทรีย์สามารถลดต้นทุนได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำบัญชีที่ทำมาตั้งแต่ปี 2548…

“พอมีการทำบัญชีจึงทำให้รู้ว่าเราลงทุนไปกับอะไรบ้าง บ้างอย่างก็เป็นการจ่ายที่ไม่จำเป็น ใช้ชีวิตในแบบทุนนิยม สังคมกระแส ถ้าเราตามเขามากเราก็เซฟตัวเองไม่ได้ ทำให้รายได้ในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จากที่เคยเป็นหนี้ ใช้หนี้ภายใน 4 ปีหมด เพราะมีการทำบัญชี ต้นทุนทำเกษตรลดลงมาเหลือ 3 หมื่นบาท/ปี แต่ขายผลผลิตหักลบต้นทุนออกเหลือเป็นเงินเก็บประมาณ 3-4 แสนบาท/ปี”

ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายบัญชี จำนวน 82 คน แต่ที่ทำบัญชีได้แล้ว มี 50 คน ที่เหลือที่ยังทำไม่เป็น เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ

แสดงตัวเลขการทำบัญชี 3 ปีย้อนหลัง
แสดงตัวเลขการทำบัญชี 3 ปีย้อนหลัง
รางวัลต่างๆที่แสดงถึงคุณงามความดี
รางวัลต่างๆที่แสดงถึงคุณงามความดี
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มอบเสื้อเป็นที่ระลึกในโอกาสมาเยี่ยมชม
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มอบเสื้อเป็นที่ระลึกในโอกาสมาเยี่ยมชม

ได้รับคัดเลือกเป็นครูบัญชีอาสาดีเด่น

จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้ คุณทองใส สมศรี ได้รับรางวัลเชิดชูคุณงามความดีมากมาย สังเกตได้จากรางวัลวางโชว์ไว้เต็มตู้ เช่น รางวัลเกษตรกรดีเด่นไร่นาสวนผสม ระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานศูนย์ ศพก. และเป็นประธานแปลงใหญ่มังคุดของ อ.ขลุง เป็นประธานท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ต.ตะปอน เป็นวิทยากรผู้บรรยายด้านเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรอินทรีย์ รวมถึงเป็นครูบัญชีอาสาดีเด่น (จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อในปัจจุบันว่า ครูทองใส ในปัจจุบัน) โดยก่อนที่จะได้เป็นครูบัญชีนั้น ก็ได้ไปเข้าอบรมกับทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จากนั้นก็นำมาแนะนำต่อให้กับสมาชิกให้มีการจดบันทึกค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน และจดบันทึกต้นทุนด้านการทำเกษตร ซึ่งในช่วงแรกสมาชิกก็ทำได้เป็นบางส่วน แต่ต่อมาก็เริ่มเข้าใจและทำบัญชีได้กันมากขึ้น

“หลักการทำบัญชี เราก็คิดไว้ในใจว่าวันนี้เราซื้ออะไร พอถึงบ้านเราก็จดใส่สมุดไว้ สิ้นเดือนเราจะรู้ว่าซื้ออะไรไปกี่บาท พอเราขายอะไรได้เราก็มาจดไว้ พอถึงสิ้นเดือนเราจะมีรายรับกี่บาท ไม่งั้นเราไม่รู้ว่าเอาเงินไหนมาใช้เอาเงินไหนมาจ่าย จ่ายไปจ่ายมาเราจะรู้ว่าเราสมควรจ่ายอะไรไม่จ่ายอะไร แล้วเราก็จะเป็นที่พอเพียงไปในตัวประหยัดในตัว รู้จักเก็บรู้จักออม แล้วก็เป็นภูมิคุ้มกันให้กับชีวิตเราด้วย ครอบครัวเราด้วย”

ครูทองใส ได้ให้ข้อคิดปิดท้ายมายังเพื่อนเกษตรกรว่า “สำหรับเกษตรกรคนอื่นๆหรือกลุ่มอื่นๆที่ยังไม่เคยทำบัญชี ยังไม่รู้จักบัญชี ลองทำดูซะ เริ่มจากการจดบัญชีไว้ในใจเป็นลำดับแรกและมาจดในสมุดบัญชีรายรับรายจ่าย แยกให้ทุกช่องแล้วมาลบหักเหลือ จะรู้ว่าเดือนหนึ่งๆ เราจะมีเงินเหลือเท่าไร เงินใช้เท่าไร มันจะรู้โดยอัตโนมัติของมันเอง..”

“ทำบัญชีชี้ทางรวยนะค่ะ” ครูทองใส สมศรี กล่าวย้ำในที่สุด (หลักการทำบัญชีจะอยู่ในคลิปข้างต้น นาที่ที 09.09 รับชมรับฟังกันได้)

เจ้าหน้าที่จาก สำนักงานกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ จันทบุรี ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
เจ้าหน้าที่จาก สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ จันทบุรี ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated