การบัญชีของสหกรณ์ในปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มีหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ โดยอาจมีทั้งการให้สินเชื่อแก่สมาชิก การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การรวบรวมผลิตผล ตลอดจนการให้บริการด้านต่างๆ แต่การดำเนินกิจการที่นอกเหนือไปจากหลักการของความเป็นสหกรณ์หรือทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ทางบัญชีแก่สมาชิกเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน การบัญชีของสหกรณ์
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์หลายแห่งดำเนินกิจการนอกเหนือไปจากหลักการของความเป็นสหกรณ์ ทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงโดยที่ผู้บริหารสหกรณ์ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือขาดจริยธรรมในการดำเนินการเพื่อส่วนรวม หรือ มีการทุจริตในการดำเนินการ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ ประสบภาวะขาดทุน ในบางสหกรณ์ขาดทุนจนทุนของสหกรณ์ติดลบ หรือเรียกว่าขาดทุนเกินทุนของสหกรณ์ ทำให้มูลค่าต่อหุ้นในวันสิ้นปีบัญชีต่ำกว่ามูลค่าต่อหุ้นที่กำหนดในข้อบังคับของสหกรณ์ สหกรณ์อาจจำเป็นต้องขายทรัพย์สินที่สร้างสมมาในอดีตเพื่อนำไปชดใช้ค่าเสียหาย หรือนำเงินมาหมุนเวียนสร้างสภาพคล่องให้กับสหกรณ์ และมีผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ทุกคนผู้เป็นเจ้าของ ให้ไม่ได้รับเงินปันผล และเงินเฉลี่ยคืน หรืออาจต้องรับภาวะดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นได้เพื่อสร้างรายได้ให้สหกรณ์เพิ่มขึ้น ทำให้สมาชิกสหกรณ์ให้รับความเดือดร้อนแทนการช่วยแก้ไขปัญหาให้สมาชิก
การสร้างการรับรู้ให้กับสมาชิกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะความสำคัญของการจัดทำบัญชี และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของสหกรณ์ รวมถึงความเสี่ยงจากรายการในงบการเงิน และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อสมาชิกสหกรณ์ เช่น สหกรณ์นำเงินไปฝาก หรือ ลงทุนในสหกรณ์หนึ่งในจำนวนมาก (แบบกระจุกตัว) สมาชิกควรทราบว่ากิจการที่สหกรณ์ไปลงทุนทำธุรกิจอะไร มีความเสี่ยงที่กิจการนั้นจะขาดทุนหรือไม่มีเงินมาชำระคืนสหกรณ์หรือไม่
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ทางบัญชีแก่สมาชิก เป็น 2 ลักษณะคือ 1.การตรวจสอบบัญชี โดยการดูจากการจัดการภายในของสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินการในรอบปี ว่ามีการดำเนินการลงบัญชี งบการเงินถูกต้องหรือไม่ สามารถตีแผ่ให้กับสมาชิกและสังคมรอบด้านรับทราบในข้อเท็จจริงที่ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด 2.การแนะนำและการส่งเสริมในด้านความรู้ รวมทั้งสิ่งซึ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะมีโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) ซึ่งพร้อมให้บริการกับสหกรณ์โดยไม่คิดมูลค่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ได้นำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรไปใช้แล้ว จำนวน 2,563 แห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์ 2,543 สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร 20 กลุ่ม เป็นโปรแกรมที่มีความแม่นยำถูกต้อง ที่สำคัญตรวจสอบย้อนกลับได้ง่าย นอกจากนั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆอย่าง Smart4M ผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานอีกด้วย ประกอบไปด้วย Smart Me เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาชิกสหกรณ์และบุคคลทั่วไปในการใช้บันทึกข้อมูลบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ Smart Member แอพพลิเคชั่นสำหรับสมาชิกสหกรณ์ ที่ช่วยให้สมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้ตลอดเวลา Smart Manage แอพพลิเคชั่นสำหรับกรรมการสหกรณ์ ใช้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ และ Smart Monitor แอพพลิเคชั่นสำหรับผู้สอบบัญชี ผู้กำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและความผิดปกติทางการเงินของสหกรณ์ นับเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้เกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ กรรมการสหกรณ์ และผู้เกี่ยวข้องได้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้เข้าถึงได้มากที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อตัวเองได้มากที่สุดอีกด้วย