ข่าว เกษตรก้าวไกล/กรมส่งเสริมการเกษตร–ว่าที่ร้อยตรีหญิง วนิดา ดุมไม้ อยู่บ้านเลขที่ 154 หมู่ 8 ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 09-1852-6247 เป็นหนึ่งใน Young Smart Farmer (YSF) ที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้การส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยกิจกรรมการปลูก ‘เมล่อนญี่ปุ่น’ ในระบบไร้ดิน soilless culture ในนามสวน THE BEST อินปั๋นแก้วฟาร์ม
ทั้งนี้ Young Smart Farmer คือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถด้านการเกษตร สามารถทดแทนเกษตรกรรุ่นสูงอายุ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารการจัดการ และการตลาดสินค้าเกษตร จนเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกระดับ
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้มุ่งเน้นพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 17-45 ปี ที่มีความรักในอาชีพเกษตรกรรม ให้เป็นผู้สืบทอดอาชีพเกษตรกรรมในอนาคต สร้างเครือข่ายด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพิ่มช่องทางด้านการตลาดตั้งเป้าเจรจาธุรกิจกับบริษัทค้าส่ง โมเดิร์นเทรด และผู้ส่งออก
สำหรับคุณวนิดา เป็นผู้ที่มีความสนใจในอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ๆ ด้วยทางบ้านมีพื้นเพทำเกษตรมาโดยตลอด โดยทำสวนลำไยและให้ที่ทำนา จึงเลือกที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหลังจากเรียนจบการศึกษาได้เข้าทำงานในบริษัทเอกชนมาระยะหนึ่ง
“ตอนที่อยู่บริษัทเอกชนมีโอกาสได้ดูแลเกี่ยวกับการปลูกเมล่อน ซึ่งเป็นพืชที่เราให้ความสนใจอยู่แล้ว และได้วางเป้าหมายว่าจะกลับมายังบ้านเกิดเพื่อสร้างสวนเมล่อนของตนเอง”
แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้สานฝันให้เป็นจริง ด้วยการตัดสินลาออกกลับสู่บ้านเกิด ใช้พื้นทีของครอบครัว ประมาณ 1 ไร่ เริ่มต้นปลูกเมล่อน จำนวน 1 โรงเรือน ในปี 2555
“พอมาทำสวนเอง ทางสำนักงานเกษตรอำเภอหางดงได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลให้ข้อแนะนำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแนะนำให้สมัครเข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer ในปี 2557 ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยให้โอกาสทุกอย่างทั้งการบริหารจัดการสวน การสร้างเครือข่ายทั้งกับเพื่อนเกษตรกร และเครือข่ายด้านการตลาด ให้กับมือใหม่อย่างเรา”
ความสำเร็จในวันนี้ นอกเหนือจากการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาจากหน่วยงานที่รับผดชอบในพื้นที่ อย่างสำนักงานเกษตรอำเภอหางดงแล้ว สิ่งสำคัญนั่นมาจากตัวของเกษตรกร ที่ได้ทุ่มเทอย่างเต็มความสามารถ จนก้าวมาสู่ความสำเร็จ
“ทำแล้วเราต้องทำจริง รู้จริง ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด จึงจะประสบความสำเร็จ” คุณวนิดากล่าว
สำหรับการปลูกเมล่อนญี่ปุ่นของคุณวนิดาเน้นในระบบเกษตรแม่นยำสูง โดยใช้ระบบการปลูกแบบไร้ดิน soilless culture เน้นการใช้ปุ๋ยทางน้ำและระบบน้ำ ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารพิษ สามารถรักษาคุณภาพผลผลิตให้มีรสชาติดี มีความสม่ำเสมอตลอดปี
คุณวนิดาได้ให้ข้อแนะนำ ตั้งแต่วิธีการเพาะเมล็ด เริ่มด้วยการนำเมล็ดมาแช่ในน้ำอุ่น นาน 2 – 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำผ้าขนหนูมาห่อเมล็ด แล้วเริ่มอ้ออกเมื่อมีรากงอกมา 1 – 2 มิลลิเมตร เมื่อเห็นเมล็ดเริ่มงอกให้เตรียมถาดเพาะกล้า พร้อมใส่วัสดุปลูก เช่น พีสมอส มีเดียร์ หรือ ขุยมะพร้าวละเอียด นำมาเมล็ดที่มีรากงอกมาหยอดลงในถาด การดูแลในช่วงนี้ให้ทำการรดน้ำ ทุกๆเช้า นาน 7 – 10 วัน จากนั้นต้นไปลงในถุงปลูกที่เตรียมไว้ได้
สำหรับสายพันธุ์เมล่อนญี่ปุ่นที่สวนของคุณวนิดาแห่งนี้ปลูก ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์หลักได้แก่
- เมล่อนญี่ปุ่นสายพันธุ์ ออเรนจ์เน็ต (Orange Net ) เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะเนื้อสีส้ม รสชาติ หวาน หอม เนื้อกรอบ
- เมล่อนญี่ปุ่นสายพันธุ์อัลฟา ( Alpha ) เป็นสายพันธุ์ที่มีลักษณะเนื้อสีส้ม เนื้อกรอบหวาน
- เมล่อนญี่ปุ่นสายพันธุ์กรีนเน็ต ( Green net )เป็นสายพันธุ์ที่ให้ลักษณะเนื้อสีเขียว
โดยคุณวนิดาจะปลูกเมล่อน ในอัตรา 450 ต้นต่อโรงเรือน ปัจจุบันมีโรงเรือนเมล่อนรวมทั้งสิ้น 19 โรงเรือน พร้อมทั้งได้ขยายไปสู่เครือข่ายเกษตรกรในชุมชนอีก 15 ราย รวม 60 โรงเรือน
อีกเทคนิคที่สำคัญของการปลูกเมล่อน คือ การให้น้ำ โดยคุณวนิดาให้ให้ข้อแนะนำว่า ช่วงการให้น้ำที่สำคัญและต้องใส่ใจนั้น จะประกอบด้วย 2 ช่วงคือ หนึ่ง ช่วงปลูกจนถึงช่วงผสมดอก และ สอง ช่วงอายุหลังผสม
โดยในช่วงแรก ตั้งแต่ช่วงปลูกจนถึงช่วงผสมดอก จะมีข้อปฏิบัติ ดังนี้
- อายุ 1 – 7 วัน ให้น้ำประมาณ 200 – 00 ซีซีต่อต้น โดยทั้งนี้ในช่วง 1 – 3 วันจะเป็นการให้น้ำเปล่า และหลังจากนั้นจะให้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2.2 – 2.8
- อายุ 8 – 15 วัน ให้น้ำประมาณ 500 – 800 ซีซี.ต่อต้น และใช้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2 – 2.8
- อายุ 16 – 25 วัน ให้น้ำประมาณ 1 – 1.5 ลิตรต่อต้น และใช้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2 – 2.8
- อายุ 26 – 35 วัน ให้น้ำประมาณ 1.8 – 2.5 ลิตรต่อต้น และใช้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2 – 2.8
“ช่วงปลูกจนถึงช่วงผสมดอก นับเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เกษตรกรต้องมีการจัดการดูแลเป็นอย่างดี ทั้งด้านการดูแล การให้ธาตุอาหาร รวมถึงการป้องกันโรคต่าง ๆ”
ช่วงที่สอง ในระยะของช่วงอายุหลังการผสม
- อายุหลังการผสม 1 – 10 วัน ให้น้ำประมาณ 2.5 -2.8 ลิตรต่อต้น
- อายุหลังการผสม 11 – 20 วัน ให้น้ำประมาณ 2.0 -2.5 ลิตรต่อต้น และใช้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2.2 – 2.8
- อายุหลังการผสม 21 – 30 วัน ให้น้ำประมาณ 1.8 – 2.0 ลิตรต่อต้น และใช้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2.2 – 2.8
- อายุหลังการผสม 31 – 40 วัน ให้น้ำประมาณ 1.8 -2.0 ลิตรต่อต้น และใช้ปุ๋ยละลายน้ำสำหรับเมล่อน Ec 2.2 – 2.8
- อายุหลังการผสม 41-45-50 วัน ให้น้ำประมาณ 1 – 1.5 ลิตรต่อต้น โดยให้เป็นน้ำเปล่า
ส่วนการให้ปุ๋ยนั้น คุณวนิดาบอกว่า จะให้ปุ๋ยทางใบในช่วงต้นเล็ก และเน้นการเสริมแคลเซียมโบรอน ธาตุอาหารที่บำรุง การเจริญเติบทางระบบราก ลำต้น และดอก
“แต่หลังจากการผสมดอกแล้ว ในส่วนการให้ธาตุอาหารนั้นจะให้ทางใบเช่นกัน โดยเน้น แคลเซียมโบรอน เป็นหลัก เพื่อช่วยให้พืชลำเลียงอาหารไปใช้ในการพัฒนาผลได้ดีมากยิ่งขึ้น “ คุณวนิดากล่าว และว่า
“นอกจากนี้ เมื่อเมล่อนอายุได้ประมาณ 14 วัน จะต้องมีการจัดการด้านการตัดแต่งกิ่งแขนงออกและทำการมัดต้น และเมื่อถึงช่วงอายุ 20 วัน จะเริ่มไว้แขนง โดยแขนงที่นิยมไว้จำนวน 3 แขนง คัดเฉพาะข้อที่ 9 – 15 ส่วนแขนงอื่นตัดทิ้งให้หมด”
สำหรับเมล่อนนั้นเป็นพืชที่ต้องมีการช่วยเผสมเกสร ซึ่งคุณวนิดาให้ข้อแนะนำว่า การแยกว่าดอกไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมียนั้น ให้สังเกตที่รังไข่ โดยลักษณะของดอกตัวผู้จะไม่มีรังไข่ ส่วนลักษณะดอกตัวเมียจะมีรังไข่ติดอยู่กับดอก ในการผสมนั้นเกสรนั้นจะใช้ดอกตัวผู้ใดก็ได้มาแกะกลีบดอกออกแล้วนำเกสรตัวผู้ไปป้ายลงบนเกสรตัวเมีย
“การผสมเกสรนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีลูกหรือไม่มีลูกก็อยู่ในขั้นตอนนี้ และหลังจาการผสมประมาณ 7 – 10 วัน ผลของเมล่อนจะเริ่มโตขึ้นขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งต้องทำการคัดลูกที่สมบูรณ์ที่สุด ให้เหลือเพียงลูกเดียวต่อต้น ส่วนการสร้างลายที่ผลนั้นจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งในช่วงการสร้างลายนั้นต้องมีการบำรุงทั้งปุ๋ยและน้ำเป็นกรณีพิเศษด้วย”
ต่อข้อถามเกี่ยวกับการจัดการดูแลป้องกันโรคที่สำคัญ คุณวนิดาบอกว่า โรคจากเชื้อไวรัสเป็นหนึ่งในโรคที่สำคัญของเมล่อน ซึ่งโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสนั้นยังไม่มีตัวยาชนิดไหนรักษาให้หายได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน
“ส่งที่เราปฏิบัติมาโดยตลอด คือ การป้องกันที่ต้นเหตุ เพราะเชื้อไวรัสจะสามารถระบาดได้นั้นต้องมีพาหนะหรือตัวต้นเหตุที่นำโรคมาสู่เมล่อนที่เราปลูก ซึ่งแมลงที่เป็นพาหะสำคัญนั้น ประกอบด้วย เพลี้ยไฟ แมลงหวี่ขาว แมลงปากดูดต่าง ๆ เป็นต้น ถ้าสามารถป้องกันกำจัดแมลงพาหะที่เป็นต้นเหตุได้ปัญหาเรื่องโรคจากไวรัสก็จะลดน้อยลงไปมาก”
นอกจากแมลงพาหะจากที่กล่าวแล้ว จากประสบการณ์ในการปลูกเมล่อนมายังพบว่า บางครั้งมีสาเหตุมาจากการเชื้อไวรัสติดมากับกับเมล็ดพันธุ์ ด้วยพ่อแม่ต้นพันธุ์ที่ผสมเพื่อเก็บเมล็ดมาจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมีการติดเชื้อไวรัส และถ่ายทอดมายังเมล็ด เมื่อนำมาปลูกก็พบการระบาดของไวรัส ดังนั้นกรณีนี้การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้และปลอดจากเชื้อไวรัส
“การที่มีเชื้อไวรัสระบาดมากๆนั้น นอกจาก 2 สาเหตุข้างต้น อีกปัจจุบันที่พบคือ การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเกิดมาจากคนงาน คนงานกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อได้เป็นเพราะการทำงานที่ไปสัมผัสกับต้นเมล่อนที่ติดเชื้อไวรัสแล้วก็นำไปสู่การแพร่กระจายด้วยการสัมผัสในเมล่อนต้นอื่น ดังนั้นหากพบว่าในโรงเรือนที่ปลูกมีการระบาดของเชื้อไวรัสแล้วละก็ให้ปรับเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นให้เสร็จส้นเสียก่อน ห้ามมาแตะตำต้องต้นที่เป็นโรคก่อนอย่างเด็ดขาด เมื่อทำงานอื่นเสร็จสิ้นแล้วค่อยมากำจัดต้นที่เป็นโรคออกด้วยการถอนทิ้งใส่กระสอบที่ปิดปากสนิท แล้วนำไปทำงายในสถานที่ห่างไกลจากพื้นที่ปลูกเมล่อนให้มากที่สุด” คุณวนิดากล่าว
ด้านการตลาดของเมล่อนที่ปลูกนั้น “ตลาดเมล่อนนั้นยังเปิดกว้าง แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำแบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้เราต่อรองกับตลาดได้เอง ซึ่งตอนนี้ผลผลิตที่ได้ทั้งหมดได้วางจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก โดยราคาเฉลี่ยที่จำหน่ายกิโลกรัมละ 100 บาท โดยแต่ละปีจะมีรายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท”
“การปลูกเมล่อนนั้น แม้จะไม่ยากแต่ก็ไม่ว่าย อยากให้ผู้สนใจ ควรมีการศึกษาอย่างรอบครอบ เพราะการทำเกษตรนั้นทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เป็น หนึ่งบวกหนึ่งออกมาเป็นสองเสมอไป อย่างการปลูกเมล่อนของสวน THE BEST อินปั๋นแก้วฟาร์ม เราพบมาแล้วทุกอย่าง ตั้งแต่ผสม 100 ลูก แต่เก็บขายได้ 50 ลูก หรือ ต้องรื้อทิ้งเพราะเป็นโรค ขายไม่ได้เลย ทุกอย่างมีปัญหาให้แก้ไขเสมอ ขอเพียงให้ทุ่มเทศึกาเรียนรู้อย่างเต็มที่แล้ว จะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” คุณวนิดา กล่าวทิ้งท้าย