เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด นำโดย นายถาวร ศรีสุวรรณศร ผู้อำนวยการฝ่ายซัพพลายเชน ได้เดินทางไปร่วมมอบปุ๋ยยูเรียโฟม ยาราวีร่า 46-0-0 จำนวน 130 กระสอบ(6.5 ตัน) ให้แก่เกษตรกร 126 ชีวิต ในพื้นที่กว่า 1,266 ไร่ ที่ได้รับผลกระทบจากการเสียสละพื้นที่การเกษตร เพื่อใช้เป็นพื้นที่ระบายน้ำออกจากอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในเหตุการณ์ช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่า อคาเดมีทั้ง 13 คน โดยมี นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีรับมอบ
นายถาวร ศรีสุวรรณศร ผู้อำนวยการฝ่ายซัพพลายเชน กล่าวว่า ทางบริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด ได้ติดตามข่าวการช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่า อคาเดมี และเกษตรกรที่ประสบภัยจากการระบายน้ำออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมาตลอด และได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ยอมเสียสละพื้นที่นาเพื่อรับน้ำในครั้งนี้ หลังการช่วยเหลือน้องๆ เสร็จสิ้นลง ทางบริษัทจึงเร่งเดินทางมามอบปุ๋ยเคมีอันเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นสำหรับการใช้ในการเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกข้าวของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทยารามาบรรยายให้ความรู้ในการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดรวมไปถึงการดูแลผลผลิตให้ได้คุณภาพอีกด้วย
นายวรพล ขาเลศักดิ์ เกษตรกรบ้านสันปู่เลย ซึ่งทำนาอยู่ 32 ไร่ และได้รับความเสียหายในครั้งนี้ เล่าว่า ช่วงนั้นระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร จึงท่วมต้นข้าวที่อายุเพียง 10 วัน เสียหายทั้งหมด ซึ่งลงทุนไปแล้ว 10,000 กว่าบาท เป็นค่าเตรียมแปลง(ไร่ละ 800 บาท) ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว(ไร่ละ 300 บาท) และค่าจ้างหว่าน(วันละ 300-400 บาท) ที่นี่จะปลูกข้าวหอมมะลิ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ไร่ต่อ 1 ถัง ราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวถังละ 300 บาท เนื่องจากการระบายน้ำใช้เวลานานกว่า 15 วัน การทำนาในรอบใหม่นี้ต้องใช้วิธีการดำนาแทนการหว่าน เนื่องจากระดับน้ำค่อนข้างสูงเพราะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนในส่วนของของการจ้างดำนาอีก โดยมีค่าจ้างดำนาไร่ละ 1,200 บาท ขณะที่ค่าจ้างหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 300-400 บาทต่อวัน นายวรพลจึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 35,000 บาท
นายสมฤทธิ์ อยู่คง เกษตรกรอีกหนึ่งรายที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ อยู่บ้านเลขที่ 15/1 ม.10 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 9 ไร่ ลงทุนหว่านข้าวไปแล้วเช่นกัน พื้นที่ 9 ไร่นี้ลงทุนไปแล้วกว่า 20,000 บาท นาข้าวจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด และได้ทำการทำนาครั้งใหม่หลังจากที่น้ำลดแล้ว โดยครั้งที่ 2 นี้ได้รับสนับสนุนพันธุ์ข้าวจากหน่วยราชการ และได้รับเงินชดเชยความเสียหายไร่ละ 1,113 บาท และทาง ธกส.ได้จ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายอีกรายละ 3,000 บาท(ไม่ว่าจะทำนากี่ไร่ก็ตาม เงินชดเชยจะได้รับเป็นจำนวนเงินที่เท่ากัน) ซึ่งแม้จะได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐมาก็ถือว่ายังไม่เท่ากับเงินที่ลงทุนไปก่อนหน้านั้น อีกทั้งยังต้องหาเงินมาลงทุนกับการทำนาในครั้งใหม่นี้ด้วย
ในการทำนานั้นปุ๋ยนับเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นของเกษตรกรและเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตข้าว โดยในส่วนของการให้ปุ๋ยนั้น เกษตรกรบอกว่า จะมีการใส่ปุ๋ยประมาณ 2-3 ครั้งต่อฤดูกาลปลูก ครั้งแรกในช่วงข้าวอายุ 15 วัน หากเป็นนาหว่าน และอายุ 1 เดือนสำหรับนาดำ โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย(46-0-0)อัตรา 2 ไร่ ต่อ 1 กระสอบ ปุ๋ยครั้งที่ 2 จะให้ช่วงข้าวตั้งท้อง หรืออายุประมาณ 2 เดือน ช่วงนี้จะใส่สูตรเสมอ (16-16-16)ในอัตราเดิม ครั้งที่ 3 จะใส่ในช่วงข้าวออกรวง โดยใช้สูตรเสมอ 16-16-16 หรือ 16-20-0
เกษตรกรที่นี่จะทำนาปีละ 2 ครั้ง เป็นนาปีและนาปรัง ผลผลิตข้าวหอมมะลิต่อไร่ประมาณ 50-60 ถัง ราคารับซื้อในปีนี้อยู่ที่ 12 บาท/กก. ปีหนึ่งเกษตรกรจะมีรายได้จากการทำนาไม่มากนัก ความเสียหายในครั้งนี้จากการที่เกษตรกรยอมให้พื้นที่นาเป็นพื้นที่รับน้ำที่ระบายออกจากถ้ำหลวงจึงถือว่าเป็นความเสียหายที่ค่อนข้างมากสำหรับเกษตรกรเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ลงทุนเพาะปลูกข้าวไปแล้ว นั่นหมายถึงมีการลงทุนเพื่อปลูกข้าวในที่นาของตนเองไปแล้ว รายละ 20,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่นา และค่าชดเชยความเสียหายที่ได้รับจากภาครัฐก็ถือว่าเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การเข้ามาช่วยเหลือในการมอบปุ๋ยเคมีของบริษัทยาราในครั้งนี้จึงนับว่าช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรกรไปได้บ้างในบางส่วนเนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรมีความจำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว เกษตรกรต่างขอบคุณ ดีใจและชื่นชมในความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง