กรมการข้าวเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) ซึ่งถือเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ที่มีเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามามีส่วนร่วม โดยปัจจุบันมีจำนวนนาแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 1,902 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 2,433,172 ไร่ เกษตรกรจำนวน 175,647 ราย ในพื้นที่ 71 จังหวัด
นางจุลมณี ไพฑูรย์เจริญลาภ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวมีนโยบายหลักในการดำเนินงานส่งเสริมการทำนาในรูปแบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตข้าวคุณภาพดี มุ่งเน้นให้เกษตรกรสมาชิกนาแปลงใหญ่ทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาครัฐและเอกชนร่วมกันบูรณาการสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีรวมทั้งปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ตลอดจนเชื่อมโยงการตลาด เพื่อให้กลุ่มนาแปลงใหญ่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
กรมการข้าวมีแผนขยายการส่งเสริมนาแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 40% ของพื้นที่ปลูกข้าวของแต่ละจังหวัด โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ผ่านบทเรียนความสำเร็จของกลุ่มนาแปลงใหญ่ต้นแบบของแต่ละจังหวัด เช่น กลุ่มนาแปลงใหญ่ไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ที่เริ่มต้นมาจากการรวมตัวเป็นศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย พอรัฐบาลมีโครงการส่งเสริมนาแปลงใหญ่สมาชิกกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนก็มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้ขยายการผลิตไปสู่การผลิตข้าวสารจำหน่ายเอง ลดการพึ่งพาภายนอก ทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
“การรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ต้องระเบิดจากภายใน คือ ทุกอย่างต้องเกิดจากความตั้งใจของสมาชิกกลุ่ม ทุกคนต้องร่วมกันบริหารจัดการ ช่วยกันคิดวางแผนการผลิต แผนการจำหน่าย ถึงแม้ว่าในระยะแรกจะยังไม่เข้มแข็งหรือเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งภาครัฐก็พร้อมให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานมีข้อมูลแต่ละด้านเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร แต่สำคัญเกษตรกรอย่าปฏิเสธองค์ความรู้ที่ภาครัฐให้ไป อยากให้ลองนำไปทดลองปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการของตนเอง โดยเรามีกลุ่มตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากมาย เพียงแค่ทุกคนร่วมกันคิดร่วมกันแก้ไข ทุกกลุ่มสามารถประสบความสำเร็จได้แน่นอน” นางจุลมณี กล่าวย้ำ
ด้าน นายบรรพต มามาก เลขานุการกลุ่มนาแปลงใหญ่ไร่มะขาม เล่าว่า กลุ่มนาแปลงใหญ่ไร่มะขาม เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 สมาชิก 49 คน พื้นที่ 756 ไร่ มีแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์และแปลงปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และข้าวไรซ์เบอร์รี่ การดำเนินงานของกลุ่มจะมีการวางแผนงานทุกอย่างล่วงหน้า โดยเอาปลายน้ำมาก่อน คือก่อนการผลิตข้าวหรือผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวต้องรู้ว่าใครจะเป็นผู้ซื้อผลผลิต หลังจากนั้นจะผลิตตามออเดอร์ที่มีอยู่เพื่อประกันความเสี่ยง ซึ่งทุกวันนี้ตลาดมีความชัดเจนเพราะเราใช้ตลาดนำการผลิต อย่างตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวทางกลุ่มจะมีผู้ซื้อที่แน่นอนโดยสั่งออเดอร์ก่อน 1 ฤดูกาล เน้นผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ตลาดต้องการและมีเสถียรภาพไม่ไปตามกระแส คือพันธุ์ปทุมธานี 1 สุพรรณบุรี 1 กข31 กข41 กข49 ส่วนพันธุ์ใหม่ๆ จะส่งต่อให้เครือข่ายแปลงใหญ่ในอำเภอบ้านลาดเป็นผู้ผลิต ส่วนตลาดข้าวแปรรูปทางกลุ่มมีโรงสีข้าวเอง มีตลาดแน่นอนคือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ร้านค้าชุนชม อีกส่วนออกบู๊ธตามงานต่างๆ และส่งให้กับแบรนด์รอยยิ้มชาวนาเพื่อส่งเข้าตลาดโมเดิร์นเทรด นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ อย่างกรมชลประทานในการวางแผนเรื่องน้ำ เพื่อบริหารจัดการผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
สาชิกกลุ่มนาแปลงใหญ่ไร่มะขาม เริ่มต้นมาจากศูนย์ข้าวชุมชน ตั้งแต่ปี 2547 ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ต่อมาก็ได้รับการพัฒนาไปเป็นหมู่บ้านส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ทำให้สมาชิกมีความรู้ความชำนาญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นอย่างดี ตลอดจนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมการข้าวไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ทำให้คู่ค้าเกิดความเชื่อมั่นในเมล็ดพันธุ์ของกลุ่ม หรือจะเป็นเครื่องกระเทาะข้าวเปลือกที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ทางกลุ่มได้ทดลองแปรรูปข้าวเอง จนปัจจุบันได้พัฒนาเป็นโรงสีมีเครื่องสีข้าวขนาดใหญ่ที่คิดค้นขึ้นเอง ทั้งประหยัดไฟและสามารถแยกสิ่งเหลือใช้จากการแปรรูปข้าวเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง อย่างแกลบ รำข้าว ปลายข้าวที่มีไซโลเก็บไม่ให้ปะปนกับดิน ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าข้าว โดยทางกลุ่มได้ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งเหลือใช้จากการแปรรูปข้าว จนเรียกว่าสินค้ารองคือสินค้าหลัก เพราะแกลบรำปลายข้าวขายได้ราคาดีกว่าขายข้าวที่เป็นสินค้าหลักของกลุ่มเสียอีก
จากจุดเริ่มต้นแค่การผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ปัจจุบันกลุ่มนาแปลงใหญ่ไร่มะขามได้ขยายการผลิตไปสู่การแปรรูปข้าวสารและต่อยอดไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น ชาข้าวไรซ์เบอร์รี่โจ๊กปลายข้าว สบู่ข้าวหอม ครีมอาบน้ำข้าว เป็นต้น โดยในอนาคตวางแผนจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น
“รายได้ของสมาชิกดีขึ้น แต่ถามว่ารวยไหมคงยังไม่รวย แต่ที่แน่ๆ คือวันนี้เราเห็นรอยยิ้มสมาชิก และสุขภาพทุกคนก็ดีขึ้น จากการตรวจเลือดพบว่าสารเคมีในเลือดลดลงจากการลดการใช้สารเคมี ความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น รายได้สิ้นปีชัดเจนมากเพราะกลุ่มรับซื้อข้าวจากสมาชิกสูงกว่าตลาด 300-400 บาท ซึ่งสมาชิกมีความพึงพอใจ สังเกตได้จากฤดูกาลที่แล้วได้ปันผลให้สมาชิกร้อยละ 75 สมาชิกก็ได้นำเงิน 75 บาทที่ได้กลับมาลงหุ้นเพิ่ม ทำให้ตอนนี้กลุ่มมีเงินหุ้นหลายแสนบาท นี่คือความมั่นคงของกลุ่มที่เกิดขึ้น”