นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้ตระหนักถึงการพัฒนาวงการหม่อนไหมอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมสนับสนุนด้านงานวิจัยถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่กรมหม่อนไหมให้ความสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2561 ในงานประชุมวิชาการหม่อนไหม มีผลงานวิจัยด้านหม่อนไหมที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้น 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลวิจัยระดับดี 1 รางวัล ได้แก่ เรื่อง การสำรวจและวินิจฉัยโรคไหมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างเพื่อการป้องกันกำจัด ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ พบว่า ฤดูฝนเป็นฤดูที่พบเชื้อสาเหตุโรคไหมแพร่ระบาดมากที่สุด รองลงมาคือฤดูหนาว และพบน้อยที่สุดในฤดูร้อน โดยเชื้อราพบแพร่ระบาดทุกฤดูกาล เชื้อแบคทีเรียและไวรัสพบระบาดมากที่สุดในฤดูฝน และเชื้อโปรโตซัวพบระบาดเฉพาะในฤดูฝน การตรวจวินิจฉัยเชื้อสาเหตุโรคของไหมเบื้องต้น พบว่า เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย หนอนไหมจะมีอาการคล้ายกันคือ ลำตัวอ่อนนิ่ม บวม สีผนังลำตัวเปลี่ยนไป แต่จะแตกต่างโดยเชื้อไวรัสส่วนใหญ่หนอนไหมจะมีอาการตัวเหลือง ชอบไต่ตามขอบกระด้ง ผนังลำตัวมัน เปราะบาง แตกง่าย ส่วนเชื้อแบคทีเรีย หนอนไหมจะมีผนังลำตัวเหนียว ไม่แตก สีแดง น้ำตาลแดง ดำ มีกลิ่นเหม็น ส่วนเชื้อรานั้นโดยส่วนใหญ่หนอนไหมจะมีลำตัวแข็ง หด และมีเส้นใหญ่เชื้อราขึ้นปกคลุมลำตัว ส่วนเชื้อโปรโตซัวจะมีหลากหลายอาการแต่ที่พบส่วนใหญ่จะมีขนาดลำตัวเล็กกว่าปกติ เมื่อทราบถึงหลักการวินิจฉัยเชื้อที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การป้องกันกำจัดได้ทันเวลาต่อไป
ส่วนรางวัลวิจัยระดับชมเชยอีก 3 รางวัล ได้แก่ 1) เรื่อง ผลการสาวไหมด้วยวิธีต่างๆ ต่อคุณสมบัติของเส้นไหมไทยประเภทไหม1 ศึกษาคุณสมบัติของเส้นไหมไทยพันธุ์ไทยพื้นบ้าน (ตุ่ยxสิ่ว) และเส้นไหมไทยพันธุ์ไทยลูกผสม (J108xนางลาย) ที่สาวด้วยวิธีแตกต่างกัน ผลการวิจัยพบว่าเส้นไหมที่สาวด้วยมือผ่านพวงสาวไหมเด่นชัย 1 ลงภาชนะทั้งพันธุ์ไทยพื้นบ้าน (ตุ่ยxสิ่ว) และพันธุ์ไทยลูกผสม (J108xนางลาย) มีคุณสมบัติด้านความเหนียวและเปอร์เซนต์การยืดตัวดีที่สุดทั้งเส้นไหมดิบและเส้นไหมที่ผ่านการลอกกาว นอกจากกรรมวิธีการสาวไหมมีผลต่อความเหนียวและเปอร์เซ็นต์การยืดตัวแล้ว การพันเกลียวเส้นไหมตอนเริ่มต้นสาวก็มีผล โดยพบว่าการสาวไหมดิบพันธุ์ไทยพื้นบ้าน(ตุ่ยxสิ่ว) ด้วยมือผ่านพวงสาวไหมเด่นชัย 1 ลงภาชนะพันเกลียว 80 เกลียว มีความเหนียวและการยืดตัวดีกว่าเส้นไหมที่สาวด้วยมือผ่านพวงสาวพื้นบ้านลงภาชนะพันเกลียว 10 เกลียว อีกทั้งกรรมวิธีการสาวไหมไม่มีผลต่อการแบ่งชั้นคุณภาพของเส้นไหม
2) เรื่อง การเปลี่ยนแปลงปริมาณเชื้ออะโซโตแบคเตอร์ในดินที่มีการปลูกหม่อน ซึ่งพบว่าผลของการใช้ปุ๋ยและเชื้ออะโซโตแบคเตอร์ต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเชื้ออะโซโตแบคเตอร์ พบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เชื้ออะโซโตแบคเตอร์ และปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับเชื้ออะโซโตแบคเตอร์ จะส่งผลให้ดินมีปริมาณของเชื้ออะโซโตแบคเตอร์มากขึ้น โดยเชื้อฯจะมีปริมาณสูงที่สุดในสัปดาห์ที่ 6 หลังการใส่ปุ๋ยและเชื้อฯ และจะเริ่มลดปริมาณลงในสัปดาห์ที่ 9 และ 12 โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับเชื้ออะโซโตแบคเตอร์มีแนวโน้มให้ดินมีปริมาณเชื้ออะโซโตแบคเตอร์สูงที่สุด และ 3) เรื่องการพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อช่วยในการคัดเลือกพันธุ์หม่อนที่ทนทานต่อความเค็ม จากการทดสอบความสามารถในการทนเค็มจำนวน 142 สายพันธุ์ สามารถคัดเลือกพันธุ์หม่อนและจัดกลุ่มได้เป็น (1) กลุ่มทนเค็มน้อย (2) กลุ่มทนเค็มปานกลาง (3) กลุ่มทนเค็มมาก และ(4) กลุ่มไม่ทนเค็ม รวม 76 สายพันธุ์
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวทิ้งท้ายว่า จากผลงานวิจัยดังที่กล่าวมาทั้ง 4 ผลงาน ล้วนก่อให้เกิดการพัฒนาในอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้ได้คุณภาพมากยิ่งขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่จะมีส่วนช่วยในการผลักดันอาชีพด้านหม่อนไหมของไทยให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศได้ต่อไป