กระทรวงเกษตรฯ ฟิตจัด รุกเดินหน้าขับเคลื่อนกฎหมายเกษตรพันธสัญญา หวังพลิกโฉมใหม่ภาคเกษตรไทยสู่ความเข้มแข็งยั่งยืน พร้อมเตรียมเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อเสนอ ครม.เห็นชอบภายใน 4 เดือน เชื่อมั่นช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา หนุนสร้างความเป็นธรรมในสัญญาเกษตรกร-ผู้ประกอบการ ล่าสุดมีผู้ประกอบการแห่ขึ้นทะเบียนแล้ว 187ราย ทำสัญญาสำเร็จ 52 ราย ออกประกาศหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติแล้ว 4 ฉบับ
นายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองโฆษกกระทรวงเกษตรฯ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนกฎหมายเกษตรพันธสัญญาว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมากจากรายงานผลดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ได้มีการดำเนินขับเคลื่อนในหลายด้าน อาทิ 1.เพื่อให้การใช้กฏหมายสามารถปฏฺิบัติที่เป็นรูปธรรม ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ตามที่พระราชบัญญัติฯที่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้วจำนวน 4 ฉบับ อาทิ หลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งประกอบธุรกิจ เพื่อให้มีรายละเอียดวิธีการขั้นตอนการจดแจ้งการประกอบธุรกิจ เป็นต้น และอยู่ในระหว่างการพิจารณา อีก 2 ฉบับ หากมีความจำเป็นเพิ่มเติมก็สามารถพิจารณาออกประกาศได้ อีก ตามสภาวะและสถานการณ์ในอนาคต 2.มีผู้ประกอบการสนใจและแสดงเจตนารมย์ มาขอแจ้งการประกอบธุรกิจและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรแล้วจำนวน 187 ราย และมีเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญา กว่า 2แสนราย ซึ่งเป็นการทำเกษตรพันธสัญญาผลิตด้านพืช เช่น อ้อยโรงงาน การผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวโพด การผลิตมันฝรั่ง การผลิตพืชผัก ด้านปศุสัตว์ เช่น การผลิตไก่เนื้อ ไก่ไข่ และด้านประมง เช่น การผลิตปลานิล ปลาทับทิม ทั้งนี้ มีตัวอย่างจาก บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตมันฝรั่งอบกรอบ “เลย์” นำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้กับการปลูกมันฝรั่งและมีนายบุญศรี ใจเป็ง ผู้นำกลุ่มเกษตรกรปลูกมันฝรั่ง บอกเล่าว่า ในฐานะที่เป็นเกษตรกรอยากได้เงินมากต้องผลิตสินค้าจำนวนมาก แต่การปลูกมากถ้าไม่มีความมั่นคงด้านการตลาดจะมีความเสี่ยง วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ ทำระบบเกษตรพันธสัญญา หรือคอนแทรกต์ฟาร์มมิง เพราะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคา ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจในรายได้ของตัวเอง เพราะในสัญญาระบุชัดต้องผลิตในจำนวนและคุณภาพที่สัญญากำหนด ถึงจะได้ราคาตามที่ตกลงกัน ถือว่าเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบเหมือนในอดีต 3.ได้รับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการไกล่เกลี่ยและยุติข้อพิพาท จำนวน 2 เรื่อง โดยสามารถการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วทั้งจำนวน 2 เรื่อง
รองโฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้ทำการศึกษาและจัดทำสัญญาแนะนำเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาแนะนำเบื้องต้นและเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บางส่วนแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายจัดทำสัญญาแนะนำเพิ่มเติมอีก เพื่อให้มีรูปแบบสัญญาที่หลากหลายและครอบคลุมการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรในแต่ละชนิด และจะเสนอคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้ความเห็นชอบและส่งเสริมการนำไปใช้ต่อไป
“อย่างไรก็ตาม กฏหมายฉบับนี้เป็นกฏหมายที่ออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรม และควบคุมการทำสัญญา ทั้งกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการ อาทิ ในมาตรา 20 ของกฏหมายได้มีข้อกำหนดในเชิงควบคุมการทำสัญญาเพื่อดูแลให้การจัดทำสัญญาเกิดความเป็นธรรมกับคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ที่ในสัญญาจะต้องมีรายละเอียด เช่น การระบุราคาและวิธีการคำนวณวัตถุดิบและผลผลิตกำหนดอย่างไร และใช้ราคา ณ เวลาใด วันและสถานที่ส่งมอบ เป็นต้น”นายพีรพันธ์ กล่าว
นายพีรพันธ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การจัดทำแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้การเห็นชอบภายใน 4 เดือน 2.การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่บุคลากรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องรับทราบอย่างต่อเนื่อง และการขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจัดส่งร่างสัญญาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบ ซึ่งจากการตรวจสอบร่างสัญญาจากผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรในเบื้องต้น ยังไม่พบร่างสัญญาที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติฯ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรหรือเกษตรกรรายใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทรศัพท์ 02 281 5955 ต่อ 354 สายด่วนโทร 1170 หรือได้ที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร เกษตรตำบล/เกษตรอำเภอ/ ปศุสัตว์อำเภอ/ สหกรณ์อำเภอ ที่อยู่ใกล้บ้านท่าน