กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำของอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ที่ร้องขอฝน แม้จะประสบปัญหาทางด้านสภาพอากาศ ที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว

“กรมฝนหลวงฯ พร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรอย่างเต็มที่”

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล

วันที่ 10 ตุลาคม 2561 เวลา 13.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานเริ่มได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งได้รับแจ้งจากเกษตรกรและอาสาสมัครฝนหลวง ที่มีการร้องขอฝนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว โดยจากการปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 7 ตุลาคม 2561 รวม 58 จังหวัด มีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ จำนวนทั้งสิ้น 218.20 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 27 จังหวัด 76.88 ล้านไร่ ภาคกลาง 15 จังหวัด  31.75 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด 58.38 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด 20.94 ล้านไร่ และภาคใต้ 4 จังหวัด 30.25 ล้านไร่ รวมทั้งได้ดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 กันยายน –  31 ตุลาคม 2561 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำทั้งสิ้นจำนวน 156 ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 67.686 ลบ.ม. เนื่องจากในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ร้องขอฝน มีพื้นที่ติดกับแปลงเกษตรที่ส่วนใหญ่กำลังจะเก็บเกี่ยว อาจทำให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ ประกอบกับ สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน เริ่มแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ ลมชั้นบนเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุม จึงทำให้ในหลายพื้นที่มีความชื้นสัมพัทธ์ชั้นบนต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเวลานี้ และไม่สามารถขึ้นบินปฏิบัติการได้ในบางวัน

อ่างเก็บน้ำแม่มอก
อ่างเก็บน้ำแม่มอก

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และร่วมกันวิเคราะห์สภาพอากาศ สภาพพื้นที่ ก่อนขึ้นปฏิบัติการทุกครั้ง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในแต่ละภูมิภาค ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงภารกิจการทำฝนหลวง ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการทำฝน รวมทั้งรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง…

“ขอให้เกษตรกรและประชาชนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ที่ร้องขอฝนให้อย่างทั่วถึง และพร้อมเคียงข้างประชาชนเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร โดยจะมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจ” นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

10 ตุลาคม 2561
10 ตุลาคม 2561
SIMA_webbanner_468x90_TH_animated