เบทาโกร กระโดดหนุนโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ชี้กระทรวงเกษตรฯมาถูกทาง ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกร-ชาวนา กู้วิกฤติภาวะขาดแคลนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ประเทศ พร้อมเตรียมรับซื้อ 4 จังหวัดไม่อั้น เชื่อมั่นปีนี้ผลผลิตขายได้ราคาดี ไม่มีตก ขยับขึ้นไม่ต่ำกว่า 9 บาท/กกอย่างแน่นอน เพราะตลาดมีแนวโน้มความต้องการวัตถุดิบอาหารสัตว์อีกกว่า 1.4 ล้านตัน

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าโครงการขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาว่า ขณะนี้มีจำนวนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 110,346 ราย พื้นที่ 962,222.50 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานในจังหวัดเป้าหมาย 33 จังหวัด และคาดว่าเกษตรกรจะเริ่มฤดูเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน ไปจนถึง 15 มกราคม 2562 และผลผลิตจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง คาดว่าข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวจะมีคุณภาพและความชื้นในเกณฑ์ที่ดี โดยมีการประมาณการผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 กิโลกรัม

ข้าวโพดหลังนา 4 จังหวัดได้เฮ...เบทาโกร รับซื้อไม่อั้น!!อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับการประสานตลาดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้หารือร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และบริษัทเอกชน 15 บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ เรื่องการกำหนดราคารับซื้อ และเห็นชอบร่วมกันว่าราคารับซื้อข้าวโพดแห้งความชื้นไม่เกิน 14.5 % ราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาจำหน่ายที่หน้าโรงงานในกทม.และปริมณฑล ส่วนราคารับซื้อในแต่ละพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพ ความชื้น สิ่งเจือปนและค่าขนส่ง ซึ่งจะยึดตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ และใช้มาตรฐานในการรับซื้อเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
“โครงการดังกล่าวถือเป็นมาตรการการจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพ เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาจะเริ่มดำเนินการ 2 พ.ย.นี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะเป็นพี่เลี้ยงดูแล โดยกรมชลประทานจะดูแลเรื่องระบบน้ำ เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอมาดูแลเรื่องการเพาะปลูกข้าวโพด กรมส่งเสริมสหกรณ์จะดูแลเรื่องของการหาตลาดรับซื้อ นอกจากนี้จะสนับสนุน เงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้สมาชิกไปลงทุนรายละไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ โดยเป็นเงินก้อนให้สหกรณ์กู้เพื่อไปปล่อยต่อให้กับสมาชิก อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี เงินกู้ที่สหกรณ์จะได้รับจะมาจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ข้าวโพดหลังนา 4 จังหวัดได้เฮ...เบทาโกร รับซื้อไม่อั้น!!

นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในการกำหนดจุดรับซื้อกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีการประชุมหารือกับทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และได้ให้ทางสมาคมส่งรายชื่อของบริษัทที่จะไปลงพื้นที่ในการที่จะกำหนดจุดรับซื้อที่แน่นอนของเกษตรกร ตอนนี้ทางสมาคมฯ มีแจ้งมาแล้ว 3 บริษัท ซึ่งก็ครอบคลุมในพื้นที่ทั้ง 33 จังหวัด แต่มีในพื้นที่เปิดใหม่ 3 จังหวัด คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ที่ยังรอความชัดเจนกับทางสมาคมฯอยู่ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2561 จะส่งรายชื่อของจุดรับซื้อในแต่ละอำเภอมาให้เพิ่มเติม ซึ่งก็จะเป็นจุดที่ทางบริษัทที่มีโรงงานอาหารสัตว์อยู่ เขาจะมีเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งเป็นพ่อค้าในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะทำงานร่วมกับสหกรณ์ในพื้นที่ โดยจะเป็นลักษณะที่สหกรณ์รวบรวมแล้วนำไปส่งให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายของโรงงานอาหารสัตว์แล้วส่งให้โรงงานอาหารสัตว์ต่อหรือว่าบางจุดสหกรณ์ไม่มีศักยภาพที่จะรับซื้อแต่ว่ามีอุปกรณ์การตลาดก็จะเป็นจุดให้ทางภาคเอกชนมาดำเนินการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรไป ในราคาที่ทางสมาคมฯ ได้พูดคุยกันก็คือ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5% ซึ่งเป็นราคาที่หน้าโรงงานอาหารสัตว์เขตปริมณฑล อันนี้ก็เป็นเรื่องของจุดรับซื้อซึ่งตอนนี้ ก็สามารถที่จะยืนยันได้ว่าแต่ละจุดเรามีผู้ซื้อโดยความร่วมมือของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์

ด้าน นายณรงค์ วงศ์ธรรมสรณ์ ผู้อำนวยการจัดซื้อและสำรวจวัตถุดิบ บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีความพร้อม 100% ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวของรัฐบาลและเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปรับซื้อข้าวโพดหลังนาของเกษตร/สหกรณ์ในพื้นที่ 4 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สระบุรีและลพบุรี ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศมีความขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมากแต่ละปีมีความต้องการ โดยที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 5 ล้านตัน มีความต้องการถึงประมาณ 8 ล้านตัน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะมีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศบางส่วนแล้วก็ยังมีความขาดแคลนอยู่อีก 1.4 ล้านตัน/ปี ในขณะที่บริษัทฯเองก็มีความต้องการจำนวน 8 แสน-1 ล้านตัน/ปี ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนต้องหาวัตถุดิบอื่นๆมาเพิ่ม อาทิ ข้าวสาลี่ ปลายข้าว จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโครงการข้าวโพดหลังนาของรัฐบาลตลาดยังมีอนาคตอีกยาวไกลเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องผลผลิตไม่ได้ราคาหรือล้นตลาด รับรองปีนี้ขายได้ไม่ต่ำกว่า 9 บาท/กก.ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนที่สำคัญข้าวโพดถือเป็นพืชเงินสดขายให้ใครก็ได้เงินสดทันทีทำให้เกษตรกรและชาวนามีสภาพคล่องมากขึ้น

ข้าวโพดหลังนา 4 จังหวัดได้เฮ...เบทาโกร รับซื้อไม่อั้น!!
“บริษัท เบทาโกร พร้อมให้ความร่วมมือโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาอย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยกอบกู้วิกฤติภาวะขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศได้อย่างถูกจังหวะและสถานการณ์ในขณะเดียวกันอีกทางหนึ่งก็ได้ช่วยเกษตรกรและชาวนาไทยเพิ่มทางเลือกในอาชีพช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง ทั้งยังช่วยโรงงานอาหารสัตว์ได้มีวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้เพียงพออีกทางหนึ่งด้วย อย่างก็ไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัท เบทาโก ได้ร่วมดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวมาแล้ว 2 ปีคือ ในปี 2559 รับซื้อผลิตจำนวน 60,000 ตัน ปี 2560 รับซื้อจำนวน 25,000 ตันที่ลดลงจากปี 2559 เพราะราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรมีตัวเลือกในการจำหน่ายมากในตลาดที่หลากหลายขึ้น ส่วนปี 2561รับซื้อไม่จำกัดจนกว่าจะเพียงพอและยังมีความต้องการข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมหาศาล” นายณรงค์ กล่าว

นายณรงค์ กล่าวว่า สำหรับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะสร้างสมดุลของปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง แล้วหันมาปลูกพืชทดแทนที่มีศักยภาพและสามารถบริหารจัดการด้านการตลาดได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยังมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์อีกเป็นจำนวนมาก ส่วนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โครงการได้กำหนดให้มีการทำความตกลงกับผู้รับซื้อ และหาตลาดให้แก่เกษตรกร โดยรับซื้อตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5%สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวม/รับซื้อผลผลิต และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 จึงพิจารณาจากราคาช่วง มกราคม– มิถุนายน เป็นหลัก โดยราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ความชื้น 14.5% ช่วงนี้ของปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.29 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 อยู่ที่ 4,624.53 บาท/ไร่ อย่างไรก็ตาม ต้นทุน/กก. จะขึ้นอยู่กับ ผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้ ซึ่งหากผลผลิตมากขึ้นต้นทุนจะลดลง

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated