เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559…สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ พร้อมเครือข่าย ได้จัดแถลงข่าว เรื่อง “พืชจีเอ็ม : ทางเลือกที่จะอยู่รอดของเกษตรกรไทย” ณ ห้องทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีทั้งนักวิชาการ และเกษตรกรมาร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานสมาพันธุ์เกษตร ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาต (สกช.) ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และปราชญ์ชาวบ้าน จ.สุพรรณบุรี คุณนิวัฒน์ ปากวิเศษ ประธานชมรมผู้ปลูกมะนาว จ.สมุทรสาคร คุณธรรมนูญ ยิ่งยืน เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และสมาชิกสภาเกษตรกรระดับจังหวัด นครราชสีมา คุณสุริยา ศรสังข์ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักและสมาชิกสภาเกษตรกรระดับอำเภอ จ.ลพบุรี คุณวุฒิไกร กุลกัลป์ชัย ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด จ.น่าน คุณศักดิ์ชัย ประสิทธิ์แสงอารีย์ เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอ จ.ชัยนาท คุณสมยศ จินศิริวานิชย์ ผู้ประกอบการฝ้าย จ.นครสวรรค์ ฯลฯ
ผลสรุปของการแถลงข่าวครั้งนี้ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังคำแถลงต่อไปนี้…
ในขณะที่จำนวนประชากรโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนก คนล้นโลกกำลังจะเป็นความจริงในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประกอบกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตพืชเพื่อใช้เป็นอาหาร และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง อาหารจะมีเพียงพอหรือไม่ นั่นเป็นคำถามที่ทุกท่านจะต้องช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์จะต้องคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อใช้ในการเพิ่มผลผลิตบนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งต้องรักษาสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ปัจจุบันมีการอนุญาตให้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม(พืชจีเอ็ม)เชิงการค้าเป็นปีที่ 20 ซึ่งพัฒนามาจากเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ในพื้นที่ที่มากกว่า 1,000 ล้านไร่ทั่วโลก สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมเป็นการค้า แต่อนุญาตให้นำเข้าเมล็ดข้าวโพดและถั่วเหลืองรวมทั้งกากถั่วเหลือง ที่มาจากข้าวโพดและถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ รวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ
แต่ก็มีกลุ่มต่อต้านการใช้ประโยชน์จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งล่าสุดส่งผลให้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยอ้างว่ายังไม่ถึงเวลาอันควร ส่งผลให้งานวิจัยและพัฒนาในประเทศหยุดชะงัก
สมาพันธ์เกษตร ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาติ ตระหนักดีว่า ปัญหาการผลิตพืชที่เกษตรกรประสบนั้น สามารถที่จะบรรเทาลงได้โดยการใช้ประโยชน์จากพืชเทคโนชีวภาพ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรจะต้องแสดงเจตจำนงให้เห็นว่า จะต้องใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมในการเพาะปลูก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
อนึ่ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการจัดรายการเสวนาให้กับเกษตรกรใน 7 พื้นที่ ระหว่างเดือน กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ให้ความรู้ที่ถูกต้องบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม (2) สร้างทางเลือกให้เกษตรกรในการเลือกใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรม และ (3) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนำ ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ กลับขึ้นมาพิจารณาใหม่
ผลสรุปจากการเสวนา…
- ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 7 ครั้ง เฉลี่ยร้อยละ 83.5 เป็นเกษตรกรจากจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1,041 คน
- ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 7 ครั้ง เฉลี่ยร้อย 92.5 เห็นว่าการเสวนานี้มีประโยชน์ เนื่องจาก ได้ทราบถึงปัญหาจริงๆ ที่เกษตรกรได้รับ ได้รู้ถึงประโยชน์ของพืชจีเอ็มที่แท้จริง ได้รู้ว่าพืชจีเอ็มสามารถทำให้ลดต้นทุน ลดการใช้สารป้องกัน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งทนแล้ง ซึ่งไม่ได้เลวร้ายดังที่เคยได้ยินมา
- ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 7 ครั้ง เฉลี่ยร้อยละ 83.6 จะให้ความร่วมมือในการเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีนำ ร่าง พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ กลับขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกและทางรอดจากการใช้พืชจีเอ็ม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ได้แถลงกัน และจะสรุปข้อมูลทั้งหมดไปให้ภาครัฐประกอบการพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งจะสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของอนาคต รู้แต่ว่าเวลานี้หลายองค์กรรุกหนัก ในขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถรับได้ในหลายประเด็น จึงอยู่ที่ว่าภาครัฐจะกล้าตัดสินใจอย่างไร…ก็คงต้องติดตามกันต่อไป