กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมเยียวยาเกษตรกรภาคใต้ แนะ 3 ปฏิบัติหลังน้ำลด

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากพายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทยเมื่อช่วงวันที่ 3 – 5 มกราคม 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรตรวจสอบพบพื้นที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้น จากการสำรวจพื้นที่ประสบภัย(ข้อมูล ณ วันที่ 9 มกราคม 2562) มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจำนวน 11 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎ์ธานี สงขลา ตรัง ปัตตานี ชุมพร พัทลุง กระบี่ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ และยะลา มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 231,282 ราย พื้นที่เสียหายจำนวน 192,485 ไร่ แยกเป็น ข้าว 34,567 ไร่ พืชไร่ 3,884 ไร่ พืชสวน และพืชอื่นๆ 154,034 ไร่ โดยมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 6 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ชุมพร สงขลา และสุราษฎร์ธานี

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบและอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สามารถยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) เพื่อรับเงินช่วยเหลือได้ตามชนิดพืช คือ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ในอัตราไร่ละ 1,260 บาท โดยเกษตรกรที่มีความประสงค์ยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัยพิบัติ แจ้งขอรับการช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่

เร่งสำรวจความเสียหาย
เร่งสำรวจความเสียหาย

สำหรับการฟื้นฟูไม้ผลหลังน้ำลด กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดังนี้ 1) ให้เร่งระบายน้ำออกจากสวน เสริมคันดินให้สูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ทำทางระบายน้ำ เติมอากาศลงในดินด้วยเครื่องจักรหรือนำไม้ไผ่เจาะรูปักไว้โคนต้นไม้เพื่อระบายความร้อนและก๊าซพิษ 2) ปรับปรุงดินหลังน้ำลดโดยการขุดดิน ทราย และตะกอนต่างๆ ออก จากนั้นพรวนดินและใส่ปุ๋ยหมักผสมสารเร่ง ระมัดระวังการนำเครื่องจักร คน สัตว์ เข้าไปในพื้นที่ เพราะอาจทำให้โครงสร้างดินและรากของไม้ผลถูกทำลาย 3) ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มหลังน้ำลด หากต้นไม้มีผลติดอยู่ให้ตัดผลออกเพื่อไม่ให้ผลแย่งสารอาหารที่นำไปฟื้นฟูรากและลำต้น หากต้นไม้ผลโค่นล้ม ควรตัดแต่งกิ่งและพยุงต้นให้ตั้งตรง พร้อมทำไม้ค้ำยันไว้รอบด้าน กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมเยียวยาเกษตรกรภาคใต้

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย พร้อมด้วยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการอารักขาพืช จำนวน 2 ศูนย์ คือ ศูนย์ฯ สงขลาและสุราษฎร์ธานี สนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์มา จำนวน 100,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยป้องกันโรคที่อาจจะเกิดกับพืชหลังน้ำลด โดยใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาใส่ลงไปในดิน จะช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งเชื้อราไตรโครเดอร์มานี้เป็นสารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย สามารถผลิตได้ง่าย และมีต้นทุนต่ำ สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมเยียวยาเกษตรกรภาคใต้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated