การท่องเที่ยวถือว่าเป็นรายได้หลักของประเทศไทย…ศูนย์ศึกษาและบริการวิชาการท่องเที่ยว ภาควิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ระยะที่ 3) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประชาชน และบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนและบุคลากรการท่องเที่ยวดังกล่าวให้มีความสามารถในระดับสากล และสามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อรับรองนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ
การจัดหลักสูตรอบรมและหลักสูตรเชิงปฏิบัติการในหัวข้อหลัก “อาหารท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งเพื่อบริการวิชาการ ภายใต้โครงการดังกล่าว โดยจะเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับความเข้าใจ คุณลักษณะของอาหารท้องถิ่นของไทย จากมุมมองของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในอาหารแต่ละท้องถิ่น ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ที่ถือได้ว่ารสชาติมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัวของแต่ละท้องที่ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และถือเป็นโอกาสอันดีในการเปิดโลกทัศน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรมสัมมนา และเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ ด้วยความสำคัญของอาหารถือเป็นหัวใจหลักของการเลือกใช้บริการการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้นๆ บุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวควรตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและปรับปรุงบริการการท่องเที่ยวต่อไป
การอบรม ได้จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 22- วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง เชียงใหม่…วันแรกนั้น เป็นการอบรมว่าด้วยเรื่อง อาหารเหนือเพื่อการท่องเที่ยว โดย ผศ.ดร.ศรีสมร คงพันธ์ วันที่สองเป็นการอบรมอาหารอีสานเพื่อการท่องเที่ยว โดย รศ.ประหยัด สายวิเชียร และวันที่สาม/วันสุดท้ายเป็นการอบรม อาหารใต้เพื่อการท่องเที่ยว โดย นายพรศักดิ์ พงศาปาน หรือ “ลุงพร สอนอาชีพ” อ.สุดา เทพเกลี้ยง และแม่ถิ้ง-พริ้มพร้อม พงศาปาน ซึ่งทั้ง 3 คน เป็นผู้จัดทำหนังสือ ภูมิปัญญาอาหารไทยภาคใต้ หรอยจังฮู้ฯ
บรรยากาศการอบรมเต็มไปด้วยสาระความรู้ ทั้งวิชาการ และประสบการณ์ ซึ่งก็คงจะทำให้ผู้เข้าอบรมนำวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป