ห้องเรียนกลางสวนทุเรียนที่ชุมพร...โมเดลการเรียนรู้ที่เกษตรกรทุกคนทำได้
ห้องเรียนกลางสวนทุเรียนที่ชุมพร...โมเดลการเรียนรู้ที่เกษตรกรทุกคนทำได้

เรื่อง/ภาพ : ทีมข่าวเกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน

จากการเดินทางไกลตลอดปี 2561เราชาวคณะ “เกษตรก้าวไกล” ที่มีคำห้อยท้ายว่า “ไปด้วยกัน” ได้ค้นพบว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าจะเติมเต็มให้การเดินทางครั้งใหม่เกิดความสมบูรณ์แบบมากขึ้น

เราได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก ที่อยากจะพัฒนาอาชีพการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งหลายฝ่ายก็กำลังยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แต่จะช่วยได้แค่ไหนช่วยได้ถูกที่ถูกทางหรือไม่ก็ว่ากันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่าในฐานะสื่อมวลชนเกษตรน่าจะช่วยได้ คือการเชื่อมโยงสังคมเกษตรให้ไปสู่สังคมอื่นๆในประเทศไทย ให้ทุกคนรู้ว่า “เกษตรคือประเทศไทย” คือไม่ว่าท่านจะอยู่ในอาชีพไหนหรือทำอะไรอยู่ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นวิศกร เป็นสถาปนิก ฯลฯ ขอให้สักช่วงเวลาแว๊ปหนึ่งของท่านมาคิดถึงเรื่องการพัฒนาอาชีพการเกษตร…

ท่านอย่าลืมนะว่า อาชีพการเกษตรเป็นอาชีพของบรรพบุรุษไทย เป็นอาชีพของพ่อแม่เราทุกคน และก็กำลังจะกลายเป็นอาชีพของลูกหลานไทย “ถ้าทำให้การเกษตรเจริญได้ ประเทศไทยของเราก็เจริญ” ขออนุญาตนำแนวพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 มากล่าวอ้าง

กระทบไหล่นายอำเภอหัวใจเกษตร....นายนักรบ ณ ถลาง (คนที่ 4 จากซ้าย)
กระทบไหล่นายอำเภอหัวใจเกษตร….นายนักรบ ณ ถลาง (คนที่ 4 จากซ้าย)

เราดีใจครับ ที่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีหลายพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาภาคการเกษตร และมีอยู่พรรคหนึ่งบอกว่าจะทำให้งานวิจัยด้านการเกษตรเป็นวาระแห่งชาติ…อันนี้ขอชมกันหน่อยว่ามันต้องอย่างนี้ เพราะว่ารัฐบาลนี้บอกว่าจะต้องพัฒนาประเทศด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี (ประเทศไทย 4.0) หลายท่านอาจจะมองว่ามันสูงเกินเอื้อมถึง แต่ในความคิดของเรามันคือการทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องคิดให้ไกลเกินตัว ให้คิดว่าในตัวของเราในสวนของเราในบ่อปลาของเรามีอะไรที่จะเพิ่มมูลค่าหรือไม่…

เกษตรจังหวัด (นายไพสิฐ เกตสถิต) กำลังกล่าวเปิดงาน
เกษตรจังหวัด (นายไพสิฐ เกตสถิต) กำลังกล่าวเปิดงาน
ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ กำลังบรรยายเรื่องการทำทุเรียนนอกฤดู
ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ กำลังบรรยายเรื่องการทำทุเรียนนอกฤดู

ว่าแล้วก็ขอวกมาที่เรื่องราวของเกษตรก้าวไกล (ก่อนที่จะไปไกลมากกว่านี้) นั่นก็คือ การจัดกิจกรรม “ห้องเรียนกลางสวน” หรือ “หลักสูตรเกษตรกร” (ดำเนินการโดย Kaset Academy หน่วยงานเล็กๆ ของเราที่ตั้งมั่นว่าจะต้องสร้างเรื่องราวการเรียนรู้เพื่อเกษตรกรไทย Academy for Farmers) คำว่าห้องเรียนกลางสวนหมายถึง การจัดการเรียนรู้ในแปลงเกษตรหรือในสวนจริงๆ และเรียนรู้จากเกษตรกรหรือผู้รู้ตัวจริง (เรียนรู้สิ่งดีดีจากของจริง) ในความคิดของเราก็คือว่า ในประเทศไทยมีเกษตรกรหรือสวนจำนวนมากที่มีศักยภาพ สามารถที่จะเปิดเป็นห้องเรียนกลางสวนหรือโรงเรียนเกษตรกรได้…โรงเรียนที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมีป้ายหรือลงทุนอะไรมากมาย ขอแค่มีองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวของเกษตรกรคนนั้น และมีวิธีการถ่ายทอดที่ดี รวมทั้งวิธีการที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย (โรงเรียนของเราจะต้องสิงสถิตอยู่ในอากาศหรือในโลกออนไลน์ครับ) ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นที่คนคนเดียวต้องรู้ทุกอย่าง ขอแค่มีใจที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง…

ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ ให้ความรู้แบบเต็มร้อย
ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ ให้ความรู้แบบเต็มร้อย

อย่างเช่น การจัดห้องเรียนกลางสวนทุเรียนที่จังหวัดชุมพร ตามที่ได้ขึ้นหัวเรื่องไว้ เราตั้งหัวข้อการเรียนรู้ว่า “การทำทุเรียนนอกฤดูกับเซียนภาคใต้” (https://bit.ly/2UzsVPU) เจ้าของสวนทุเรียนที่เราไปเรียนรู้คือ ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ บอกมาว่าในวันดังกล่าวจะมีมาเรียนรู้หลายคณะ เราก็บอกว่า “ดีเลยครับ” บรรยากาศจะได้คึกคัก สมดังวัตถุประสงค์ พอถึงวันงานก็มีทั้งสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร (นำโดยนายกเนิน ศึกขันเงิน) สถาบันทุเรียนไทย(นำคณะมากันหลายคน-หาชื่อพบจะมาใส่ให้อีกครั้งครับ) MeZ (อ่านว่า มีแซด-เป็นธุรกิจซื้อขายทุเรียนออนไลน์ เครือเอสซีจีมานำเสนอด้วย-ซึ่งตามโปรแกรมทีมงานระบบน้ำเพื่อการเกษตรของเอสซีจีจะมาร่วมด้วย แต่บอกว่าไว้โอกาสหน้าครับ) เกษตรอำเภอ(นายบรรยง สันติพิทักษ์) หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตร(นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์) เกษตรจังหวัด(นายไพสิฐ เกตสถิต) ผู้อำนวนการกลุ่มพัฒนาธุรกิจสหกรณ์(นายณรงค์ วัชรปาณี) และที่พลาดไม่ได้คือ “นายอำเภอหัวใจเกษตร” นายนักรบ ณ ถลาง ได้มาร่วมเป็นเกียรติในงานครั้งนี้ด้วย ฯลฯ (ดูเพิ่มเติมจาก LIVE สด https://bit.ly/2G1rz8z)

หัวใจของงานในครั้งนี้ ก็คือพี่น้องเกษตรกร มากันทั้งหมดกว่า 100 คน ทั้งในจังหวัดชุมพร และจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ รวมทั้งจากกรุงเทพฯก็มา…(ขอย้ำว่าท่านทั้งหลายไม่ได้มาจากเราหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากความร่วมมือของเราทุกคนนะครับ)

การทำทุเรียนนอกฤดูคือหัวใจของการเรียนรู้ในครั้งนี้
การทำทุเรียนนอกฤดูคือหัวใจของการเรียนรู้ในครั้งนี้

สำหรับบรรยากาศการเรียนรู้คึกคักมาก เริ่มจากการเรียนรู้เรื่องทุเรียน ว่ากันตั้งแต่ประวัติ(เพราะเรียนกันทั้งวัน-ตอนแรกนั้นตั้งใจจะครึ่งวัน แต่พี่น้องมากันเยอะขนาดนี้ก็ต้องเรียนกันทั้งวัน) ต่อด้วยการปลูก ต่อด้วยเทคนิคการทำทุเรียนคุณภาพ และหัวใจของภาคเช้าว่าด้วยเรื่อง การทำทุเรียนนนอกฤดู (ขอให้ดูจาก LIVE สด https://bit.ly/2G1VEVq) โดยวิทยากรของเรา คือผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ สินศักดิ์ ลากยาวได้สบายๆ เพราะความรู้แน่นปึ๊ก ทำทุเรียนนอกฤดูมาตั้งแต่ปี 2539 (และผู้ใหญ่เป็นนักมวยเก่าขึ้นชกมากว่า 200 ครั้ง ผ่านเวทีราชดำเนินมาแล้ว…จึงมีแรงเพียงพอครับ) พอช่วงบ่ายหลังจากรับประทานอาหารอร่อยฝีมือแม่บ้านผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ และคณะเสร็จแล้ว ก็เดินไปเข้าสวนทุเรียนที่อยู่ใกล้ๆ เราเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องการเสียบยอด และการเสริมราก โดยเฉพาะการเสียบยอดนั้นได้สาธิตให้เห็นกันชัดๆ (ขอให้ดูจาก LIVE สด https://bit.ly/2I1hx9D) และ https://bit.ly/2G1rz8z) จบตรงนี้ได้ถ่ายภาพร่วมกัน (ที่เห็นในภาพเป็นส่วนหนึ่ง เพราะบางส่วนที่อยู่จังหวัดไกลๆ ขอตัวกลับก่อนก็มีบ้าง) หลังถ่ายภาพจบก็ได้เวลาชิมทุเรียนกันอย่างไม่อั้น (ขอให้ดูจาก LIVE สด https://bit.ly/2WSzlap)

ภาคบ่ายเข้าสวนทุเรียน...เรียนรู้จากของจริง
ภาคบ่ายเข้าสวนทุเรียน…เรียนรู้จากของจริง
สาธิตการเสียบยอดทุเรียน
สาธิตการเสียบยอดทุเรียน
ช่วงที่สะกดผู้เรียนได้ทุกคน คือช่วงที่ชิมทุเรียน เพราะว่าให้บริการกันอย่างเต็มที่
ช่วงที่สะกดผู้เรียนได้ทุกคน คือช่วงที่ชิมทุเรียน เพราะว่าให้บริการกันอย่างเต็มที่

ยังไม่จบแค่นั้นครับ…จากสวนทุเรียนใกล้บ้านคณะได้ไปต่ออีกสวนหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร บ้างก็เดินคุยกันไปเรื่อยๆ บ้างก็ขึ้นรถกระบะฟอร์ดเรนเจอร์ของทีมงาน (ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ครับ) พอไปถึงก็ตะลึงกับทุเรียนต้นขนาดใหญ่ที่มีอายุ 30-40 ปี หลายคนโอบกอดต้นทุเรียน เพราะว่าบางต้นนั้นทำเงินปีละ 1 แสนบาท (ต้นละ 1 ตัน) (เผื่อว่าจะได้ปลูกทุเรียนแล้วรวยเหมือนเจ้าของสวนบ้างครับ) แต่ก็มีบางต้นที่ผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ บอกว่าเป็นต้นขี้เกียจ เพราะให้ผลผลิตน้อย แต่จากการเงยหน้าขึ้นไปมองก็เห็นว่าหลายสิบลูกอยู่เหมือนกัน

ฟอร์ด เรนเจอร์ ทำหน้าที่บริการพี่น้องเกษตรกร
ฟอร์ด เรนเจอร์ ทำหน้าที่บริการพี่น้องเกษตรกร
ทีมงาน MeZ (เครือ SCG) โอบกอดทุเรียนต้นที่อายุ 30-40 ปี
ทีมงาน MeZ (เครือ SCG) โอบกอดทุเรียนต้นที่อายุ 30-40 ปี

ในสวนทุเรียนผู้ใหญ่ดำรงค์ศักดิ์ เรายังได้รับความรู้เพิ่มเติม เรื่องการเก็บน้ำไว้ใช้ในสวน ซึ่งจะเห็นว่าจะมีบ่อน้ำประจำสวนเป็นบ่อปูนซีเมนต์ที่ดูดน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และวางระบบน้ำขึ้นมาง่ายๆ แบบที่ว่าทำได้เอง

ยังมีสาระความรู้อีกมาก ที่จะแบ่งปันออกไป…เอาเป็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น เราได้เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ชนิดที่ว่าเกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ หลายคนบอกว่าจะต้องลงทุนมากไหน ตอบว่าลงทุนหลักร้อยหลักพันแต่ผลที่ได้หลักหมื่นหลักแสน(ประเมินค่ามิได้) เหมือนที่เขาว่าราคาหลักร้อยแต่วิวหลักล้าน ยังไงก็ยังนั้น แต่ทั้งหลายทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการเขียนบทความนี้

ให้ความรู้เต็มร้อย...ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แม้เวลาจะชิมทุเรียนก็ต้องบอกว่าสุกระดับไหนดูอย่างไร
ให้ความรู้เต็มร้อย…ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แม้เวลาจะชิมทุเรียนก็ต้องบอกว่าสุกระดับไหนดูอย่างไร
สังเกตสีหน้าแววตาแต่ละคนมุ่งมั่นตั้งใจมาก
สังเกตสีหน้าแววตาแต่ละคนมุ่งมั่นตั้งใจมาก (เพราะว่ากำลังจะได้ชิมทุเรียน)

วัตถุประสงค์หลักของเรา(สิ่งที่อยากบอก) คือเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจล้วนๆ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นได้ถ้าขาดสิ่งนี้ “อย่าคิดว่าเราคนตัวเล็กจะสู้คนตัวใหญ่ไม่ได้” ยุคนี้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันอีกครั้งหนึ่ง “ความคิดที่ใหญ่” “ความคิดที่ตรงกัน” จะทำให้ทุกคนมาเชื่อมต่อกันได้ จึงอยากป่าวประกาศไปยังพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งมวลที่เห็นพ้องต้องกันว่า “เกษตรคือประเทศไทย” ให้มาร่วมมือร่วมใจกันและเดินไปด้วยกัน

ขอบคุณแม่ครัวของเรา...แกร่งทุกคน
ขอบคุณแม่ครัวของเรา…แกร่งทุกคน
อร่อยแบบพื้นบ้าน
อร่อยแบบพื้นบ้าน

อยากเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า “เกษตรก้าวไกล” กำลังจะออกเดินทางครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการเกษตรคือประเทศไทย ก้าวไกลไปด้วยกัน ปี 2 ชื่อตอนว่า “ค้นหาสุดยอดเกษตรกรประเทศไทย” (THAILAND Super Farmers) ภายใต้ธีม “เกษตรกรคือยอดมนุษย์” (คลิก https://bit.ly/2IhdC7N) ซึ่งกำหนดงานเปิดตัวโครงการ วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2562 ระหว่างนี้เราก็นำร่องออกเดินทางไปบ้าง เพื่อจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติม อย่างเช่น โครงการห้องเรียนกลางสวนที่เราได้ทดลองจนเข้าที่เข้าทาง และยังมีโครงการอบรมติดอาวุธความรู้ด้าน DIGITAL ให้กับเกษตรกร (Digital for Farmers) รวมทั้งค้นหาแหล่งน้ำต้นแบบในแปลงเกษตร (Kaset Water หรือ Water for Farmers) ทั้งหมดที่พูดมานี้เป็นกิจกรรมเสริมนอกเหนือจากการทำข่าวค้นหาสุดยอดเกษตรกร แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เกินกำลังของเรา แต่อย่างที่บอกแล้วครับ ความร่วมมือคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนืออื่นใด

รายละเอียดเพิ่มเติมเราจะมาเล่าให้ฟังอย่างต่อเนื่อง ว่าแต่ละกิจกรรมเป็นอย่างไร มีใครที่ร่วมให้การสนับสนุนบ้าง เฉพาะตอนนี้ขอขอบคุณ ฟอร์ด เรนเจอร์ “แกร่งทุกงานเกษตร” พาหนะที่เข้าถึงเข้าใจเกษตรกร และขอบคุณ “เกษตรกรพันธุ์แกร่ง” ของเราทุกคนที่มาร่วมสร้างจุดเริ่มต้น…ถึงเวลาที่จะต้องใส่เกียร์เดินหน้าไปด้วยกันแล้วครับ

ขอบคุณ ฟอร์ด เรนเจอร์...แกร่งทุกงานเกษตร
ขอบคุณ ฟอร์ด เรนเจอร์…แกร่งทุกงานเกษตร

หมายเหตุ : ต้องการสนับสนุน หรือร่วมมือใดๆ ติดต่อโทร.ไอดีไลน์ 0813090599 หรือ อีเมล์ : kasetkaoklai@gmail.com …ขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated