กรมวิชาการเกษตร ปลุกกระแสผ้าฝ้ายไทย โชว์ผลงานวิจัยฝ้ายพันธุ์ใหม่ ตากฟ้า 6 ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาลธรรมชาติพันธุ์แรกของไทยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม เพิ่มมูลค่าผลผลิต และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสิ่งทอเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดเป็น green product ยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ฝ้ายจัดเป็นพืชที่มีความสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะในภาวะโลกร้อนเช่นปัจจุบัน เพราะสามารถดูดซับเหงื่อได้ดีและระบายความร้อนออกจากเส้นใยได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจุบันพื้นที่การปลูกฝ้ายของประเทศไทยจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีพืชแข่งขันอื่นที่ทำรายได้สูงกว่า และปัญหาด้านมลภาวะจากกระบวนการฟอกย้อม แต่เกษตรกรส่วนหนึ่งยังคงมีความผูกพันและต้องการที่จะปลูกฝ้าย เพื่อใช้สำหรับผลิตหัตถกรรมสิ่งทอในครัวเรือนทั้งของตนเอง หรือรองรับการผลิตหัตถกรรมสิ่งทอของชุมชนในรูปผลิตภัณฑ์ OTOP แสดงให้เห็นว่าการปลูกฝ้ายยังคงความสำคัญสำหรับวิถีชีวิตชุมชนของประเทศไทย
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาฝ้ายพันธุ์ใหม่ใช้ชื่อว่า “ตากฟ้า 6” โดยมีคุณสมบัติพิเศษ มุ่งเน้นความเป็นเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความนิ่มนวล และมีสีน้ำตาลตามธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม เพื่อลดต้นทุนแรงงาน ลดขั้นตอนและเวลาในการฟอกย้อมสี อีกทั้งยังปลอดภัยต่อการใช้สารเคมีในการฟอกย้อม ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่กลับมานิยมใช้เส้นใยฝ้ายสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 เป็นฝ้ายพันธุ์แรกของไทยที่มีเส้นใยสีน้ำตาลตามธรรมชาติ และมีความละเอียดอ่อนของเส้นใยสูง เมื่อนำไปทอจะได้เนื้อผ้าที่มีความนิ่ม สบาย ให้ผลผลิตเฉลี่ย 177 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคใบหงิก เจริญเติบโตดี ดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อโรคแมลงศัตรู เก็บเกี่ยวง่าย และปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทยทั่วไป ซึ่งจากการนำฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 ไปให้กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองปลูกทดสอบ พบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการปลูกฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 6 และกลุ่มทอผ้าชอบเส้นใยที่อ่อนนุ่มและมีความแปลกใหม่ของสีธรรมชาติ ทำให้การปลูกและทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองกลับมาเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกครั้ง