กรมประมงนำปลาทูไทยกลับมาแล้ว...จะบริหารจัดการร่วมกันต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน

ปลาทูถือเป็นหนึ่งในอาหารทะเลที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาเป็นเวลานาน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินเกี่ยวกับเรื่องวิกฤตปลาทูในอ่าวไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี 2558-2561 ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลงจากเดิมเคยจับได้ 1.2 แสนตันต่อปี ลดลงจนเหลือเพียง 33,931 ตันในปี 2558 และลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปลาทูถูกจับ “เกินศักยภาพการผลิต” ประกอบกับเครื่องมือทำการประมงถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าอดีต ส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์และปลาทูสาวถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อกรมประมงเห็นแนวโน้มการลดลงของปริมาณปลาทู จึงได้ปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆ ให้ได้ผลในการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆมากที่สุดเพื่อจะนำปลาทูกลับคืนมาให้ได้ผลมากที่สุดจนกระทั่งในปี 2562 พบว่ามีปริมาณการจับปลาทูเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2561และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับดังนั้น เมื่อวันนี้ปลาทูไทยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีแล้วถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราทุกคนต้องช่วยกันฟื้นฟู ปลาทูในท้องทะเลไทยกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน อยู่คู่กับวิถีชีวิตของเราไปอีกนาน

กรมประมงนำปลาทูไทยกลับมาแล้ว...จะบริหารจัดการร่วมกันต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปัจจุบันปลาทูไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เนื่องจากเดิมปลาทูถูกจับไปใช้ประโยชน์ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ทันสมัย ปลาทูสาวร้อยละ 90 ที่พร้อมจะเดินทางไปวางไข่ที่อ่าวไทยตอนกลางถูกจับในอัตราที่สูงขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้นและหลุดรอดไปยังแหล่งวางไข่น้อยมาก เป็นเหตุให้พ่อแม่พันธุ์ที่พร้อมวางไข่เหลือปริมาณน้อย ปลาทูรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนจึงลดลงไปด้วย จึงส่งผลให้ปริมาณปลาทูที่จับได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2561 กรมประมงจึงได้เพิ่มมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูอย่างต่อเนื่อง มีการจัดระเบียบการทำประมงทั้งในประเทศและน่านน้ำทั่วไปภายใต้พระราชกำหนดการทำประมง พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการทำประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 (ฉบับแก้ไข) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้การบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งมีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วนและถูกต้อง มีการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด เพื่อให้การบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

กรมประมงนำปลาทูไทยกลับมาแล้ว...จะบริหารจัดการร่วมกันต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืนภายหลังจากการลดลงของปริมาณปลาทู กรมประมงได้เพิ่มมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูอย่างต่อเนื่องเช่น การใช้ปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืนเป็นจุดอ้างอิงในการพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงและจำนวนออกทำการประมง มีการขยายพื้นที่และเวลาปิดอ่าว เช่น การประกาศห้ามทำการประมงในพื้นที่ 7 ไมล์ทะเล นับจากชายฝั่งในพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลางเป็นระยะเวลา 30 วัน ตั้งแต่ 16 พ.ค.- 14 มิ.ย. เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของลูกสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมถึงการประกาศห้ามทำการประมงหรือปิดอ่าวบริเวณรอยต่อของพื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลางและอ่าวไทยรูปตัว ก เขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.- 14 มิ.ย.ของทุกปี และมีการปรับปรุงประกาศปิดอ่าวไทยตัว ก ให้สอดคล้องกับรูปแบบการอพยพของปลาทู โดยประกาศปิดอ่าวเป็นสองช่วงได้แก่ อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.- 15 ส.ค. และอ่าวไทยตอนในด้านเหนือระหว่างวันที่ 1 ส.ค.- 30 ก.ย.ของทุกปี นอกจากนี้ ยังห้ามเครื่องมือทำการประมงบางชนิดในเขตทะเลชายฝั่ง เช่น อวนล้อมจับ อวนติดตาที่มีความยาวอวนมากกว่า 2,500 เมตร และเครื่องมือทำการประมงที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ปั่นไฟ) เป็นต้น และยังกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่ได้ขนาดอีกหลายมาตรการ เช่น ห้ามใช้เครื่องมือบางชนิดทำการประมงในเขตชายฝั่ง ห้ามทำการประมงอวนล้อมจับ โดยใช้ตาอวนขนาดต่ำกว่า 2.5 ซม.ในเวลากลางคืน การขยายขนาดตาอวนก้นถุงอวนลากเป็น 4.0 ซม.และยกเลิกเครื่องมือประมงบางชนิดที่ทำลายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 เป็นต้น โดยกรมประมงยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2563-2565 ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายให้ทรัพยากรประมงฟื้นฟูคืนสู่ระดับที่สามารถให้ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (MSY) ในน่านน้ำไทย เพื่อควบคุมระดับการลงแรงประมงให้เหมาะสมกับค่า MSY และลดการจับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2559 ภายหลังจากมีการนำพระราชกำหนดการทำประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาบังคับใช้ กรมประมงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง(FMC) และกำหนดให้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) เพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังการทำประมงตลอด 24 ชั่วโมง หากพบมีเรือ ทำการประมงในเขตพื้นที่ห้ามทำการประมงจะมีการแจ้งเตือนไป ทำให้การควบคุมเฝ้าทำการประมงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กรมประมงนำปลาทูไทยกลับมาแล้ว...จะบริหารจัดการร่วมกันต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืนอย่างไรก็ดี นอกจากมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย รวมถึงมาตรการกำหนดพื้นที่ทำการประมงในระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่เลี้ยงตัวอ่อน หรือที่เรียกว่ามาตรการปิดอ่าวที่แบ่งเป็น 5 ระยะเป็นเวลาประมาณ 225 วัน นั้นแม้จะมีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของปลาทูที่ลดลงมากมาตั้งแต่ปี 2558 จำเป็นต้องมีมาตรการทางสังคมเข้ามาช่วยในการฟื้นฟูปลาทูให้กลับคืนมาอีกทางหนึ่ง เช่น การรณรงค์ให้หยุดบริโภคปลาทูขนาดเล็ก การหยุดใช้เครื่องมือประมงผิดและหยุดจับพ่อแม่พันธุ์ปลาทูก่อนช่วงวางไข่ จึงจะช่วยให้ปลาทูไทยฟื้นฟูกลับมาได้เร็วขึ้น อีกทั้ง กรมประมงยังอยากให้มีมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 6 เพื่อให้ครอบคลุมวงจรชีวิตปลาทูในเขตชายฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นรอบนอกวงจรชีวิตปลาทูจากมาตรการปิดอ่าวทั้ง 5 ระยะ เนื่องจากเป็นเส้นทางการเดินทางของปลาทูของวัยหนุ่มสาวที่จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่มาตรการนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงในการบริหารจัดการร่วมกันภายใต้ข้อมูลทางวิชาการ และผลกระทบต่อชาวประมงน้อยที่สุด เพื่อขับเคลื่อนภายใต้การจัดการที่ดีก็จะช่วยให้ปลาทูคืนกลับมาสมบูรณ์อย่างแน่นอน

กรมประมงนำปลาทูไทยกลับมาแล้ว...จะบริหารจัดการร่วมกันต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน“กรมประมงได้พยามยามฟื้นฟูทรัพยากรปลาทูมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม กรมประมงและภาครัฐจะไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงหากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องชาวประมง ซึ่งนโยบายของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นให้คืนความสุขกับพี่น้องชาวประมง ในการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้พี่น้องชาวประมงได้ประกอบอาชีพ แต่การคืนความสุขนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงในการช่วยดูแล และต้องเกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักการทางวิชาการรองรับและการตก ผลึกทางความคิดร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้ทรัพยากรสัตว์น้ำกลับคืนมาเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนมีปริมาณปลาทูที่เพียงพอให้พี่น้องชาวประมงได้ประกอบอาชีพ และรับประโยชน์จากสัตว์น้ำอย่างเต็มที่และเหมาะสม ซึ่งต่อจากนี้ไปเราจะไม่ถามว่าปลาทูหายไปไหน แต่จะถามว่าเราจะเอาปลาทูกลับมาอย่างไรให้ยั่งยืนกรมประมงและพี่น้องชาวประมงจะร่วมกันบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ปลาทูอย่างไร เพื่อให้ปลาทูกลับมาสมบูรณ์อยู่คู่กับวิถีชีวิตของเราไปอีกนาน” อธิบดีกรมประมง ฝากทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated