ปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวสูงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวนาต้องแบกรับภาระดังกล่าว ในขณะที่รายรับจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเน้นการช่วยเหลือราคาข้าวด้วยวิธีการประกันราคา จำนำข้าว ช่วยเหลือทางด้านปัจจัยการผลิตตามนโยบายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่ผ่านมาหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนโยบายก็จะเปลี่ยนแปลงตามรัฐบาลนั้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวขาดความต่อเนื่อง

เปิดเคล็ดลับทำน้ำหมัก02

ดังนั้นสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถาบันของเกษตรกรมุ่งสร้างความเป็นธรรมและมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเข้ามามีบทบาทและหน้าที่ในการคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับเกษตรกร

ที่ผ่านมาชาวนาจังหวัดกำแพงเพชร ประสบความเดือดร้อนจากราคาข้าวตกต่ำต่อเนื่องเกือบทุกปี ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงได้รวมตัวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และได้มีการหารือร่วมกันระหว่างชาวนาในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเกษตรกร 11 อำเภอ ได้มีการสรุปแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ ด้านเกษตรกร มีการปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง ต้องปลูกข้าวแบบลดต้นทุนการผลิต และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยผลิตสารชีวภาพใช้เอง ลดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทีมีคุณภาพต่ำมาเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ราคาดี ตามความต้องการของตลาด

จากการแก้ไขปัญหาลดต้นทุนการผลิตข้าว สภาเกษตรกรแห่งชาติจังหวัดกำแพงเพชร ได้ประสานส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ สร้างเป็นเครือข่าย โดยเน้นพื้นที่ใกล้เคียงกันในลักษณะ เกษตรแปลใหญ่ซึ่งมีเกษตรกรตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องด้านข้าว โดยให้เกษตรกรปลูกข้าวด้วยวิธีการ ระยะเวลาที่เหมาะสม อีกทั้งแนะนำวิธีการผลิตเพื่อลดต้นทุน

นายถวิล สีวัง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติจังหวัดกำแพงเพชร  บ้านเลขที่ 2 หมู่ 3 บ้านสามง่าม ต.วังบัว อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เล่าให้ฟังว่า ตนได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาทำนาระดับจังหวัด ประจำปี 2553 จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากทำนาได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ย1 ตัน ต่อไร่ และสามารถลดต้นทุนการทำนาจากปกติไร่ละประมาณ 4,000 บาทเหลือไร่ละ 2,700 บาท

จากเดิมทำนาโดยใช้ปุ๋ยเคมี ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อไร่ และใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงอย่างมาก ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นแบบลดต้นทุนการผลิต ทำการเกษตรแบบยั่งยืน คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ คือปลูกปอเทืองในนาแล้วไถกลบปีเว้นปี และไม่เผาตอซัง แต่ใช้น้ำหมักย่อยสลายฟาง  โดยการขุดหน่อกล้วยทั้งเหง้าที่มีความสูงไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งเป็นช่วงหน่อกล้วยมีจุลินทรีย์ กลุ่ม แอ็คติโนมัยซิสมา มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสูง  

เปิดเคล็ดลับทำน้ำหมัก01

เคล็ดลับที่ได้ทำมาตลอดคือ จะต้องเลือกหน่อกล้วยที่สมบูรณ์ไม่มีโรคแมลงในช่วงเช้ามืด มาสับให้เล็กโดยสับปนกันทั้งใบ เหงา ราก อัตรา 30-40 กก.ผสมกับน้ำตาล 20 กก. และหัวเชื้อซุปเปอร์ พด. 24 ซอง โดยใช้น้ำผสมกับหัวเชื้อซุปเปอร์พด. 2 ก่อนคน ประมาณ 5 นาที  ให้คนไปทางเดียวกัน แล้วนำ ส่วนผสมเทลงในถัง 200 ลิตรแล้วเติมน้ำคนทุกวันเช้า-เย็น เพื่อเพิ่มอากาศให้กับจุลินทรีย์ โดยถังดังกล่าวต้องเก็บไว้ในร่ม จนครบ 7 วัน กรองเอากากต้นกล้วยออก นำไปฉีดพ่นในอัตราส่วนน้ำหมัก 5 ลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นในพื้นที่นา 1 ไร่ ก่อนฉีดพ่นน้ำหมักเอาน้ำเข้านา 1 วัน แล้วทำตีฟางแล้วทำการฉีดพ่น หลังจากทำการฉีดพ่นอย่าให้น้ำไหลออกจากนาเพราะน้ำย่อยสลายฟางจะไหลออก หลังจากนั้น ประมาณ 10 -15 วันฟางจะย่อยสลาย แล้วทำการไถปลูกข้าวรุ่นใหม่ได้เลย โดยทั่วไปตอซังในพื้นที่ 6 ไร่ จะให้ฟาง 5 ตัน ให้ธาตุอาหารไนโตรเจน 9 กก.ต่อไร่ ฟอสฟอรัส 2 กก.ต่อไร และโปสแตสเซียม 20 กก.ต่อไร่

สำหรับช่วงแรกผลผลิตข้าวอาจจะลดลงกว่าปกติอาจจำเป็นใช้ปุ๋ยเคมีร่วมในปริมาณที่ลดลงกว่าปกติ แต่พอปีที่ 3 ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี ในนาของตนเองทำมาเป็นปีที่ 7 ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีใดๆผลผลิต 1 เกวียนกว่า ต่อ 1ไร่ขณะเดียวกันในนาจะต้องใช้เชื้อราบิเวอเรียฉีดพ่นเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแทนการใช้สารเคมี จึงทำให้ต้นทุนการทำนาต่ำกว่าเกษตรกรรายอื่นๆ และผลผลิตสูง ทำให้ปัจจุบันผลิตพันธ์ข้าวและน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วยจำหน่ายด้วย ขณะเดียวกันมีเกษตรกรมาศึกษาดูงานที่แปลงนาตลอดเวลา  และได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มเกษตรกรและนักเรียนอีกด้วย

เกษตรกรต้องรู้จักวางแผนช่วงเวลาปลูกให้เหมาะสมโดยให้ดูว่าในพื้นที่ของตนเองน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุ อากาศเย็นจัด อากาศร้อนจัดในช่วงไหนให้เว้นโดยเฉพาะช่วงที่ข้าวออกดอก ออกรวงจะต้องวางแผนให้พ้นช่วงดังกล่าว” นายถวิล กล่าว

จะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านที่กล่าวมาข้างตน นับว่าเป็นการหาแนวทางและเคล็ดลับในการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนาในจังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้ประโยชน์และคุณภาพของข้าว เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับว่ามาจากแหล่งผลิตใด อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีตลาดซื้อขายข้าวล่วงหน้า จากสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. กำแพงเพชรจำกัด ได้ประสานความร่วมมือกับจดบันทึกข้อตกลงร่วมกับสกต. ได้ตกลงราคารับซื้อข้าวล่วงหน้าจากเกษตรกร จำนวน 4,000 ตัน ในราคา 12,5000 บาทต่อตัน นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับเกษตรกรต่อไปในอนาคต

 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated