นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทย โดยมี นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร ในฐานะหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ร่วมให้ข้อมูล ณ โรงแรมไอธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา จ. เพชรบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการดำเนินการบริหารจัดการเกลือทะเลไทยทั้งระบบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้จากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้การทำนาเกลือในส่วนที่เป็นเกลือสมุทรเป็น “เกษตรกรรม” และผู้ทำนาเกลือเป็น “เกษตรกร” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย ปี 2560 – 2564 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าเกษตร อันจะเป็นการช่วยเหลือคุ้มครองอาชีพเกลือทะเลให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยกำหนดรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ และดำเนินการตามนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ ส่งผลให้อาชีพนี้คงอยู่คู่กับประเทศไทยสืบไป ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย จำกัด เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลของ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ให้เกิดความเข้มแข็งของเกษตรกรชาวนาเกลือทะเล
สำหรับประเทศไทยมีพื้นที่การทำนาเกลืออยู่ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และปัตตานี มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือ รวมทั้งประเทศ 841 ครัวเรือน จำนวน 1,576 แปลง เนื้อที่ 38,410.70 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2563) สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยที่ผ่านมา ได้เร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ทำนาเกลือเพื่อวางเป้าหมายและกำหนดทิศทางการทำงาน การเตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล ปีการผลิต 2561/62 – 2562/63 เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และพัฒนามาตรฐาน GAP การทำนาเกลือทะเล และมาตรฐานสินค้าเกลือทะเลธรรมชาติ รวมถึงแก้ปัญหาเกลือทะเลค้างสต็อก โดยการกระจายเกลือทะเลผ่านระบบสหกรณ์และร้านธงฟ้า ส่วนแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทยในปีงบประมาณ 2564-2568 มีเป้าหมายที่จะผลิตเกลือทะเลให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีช่องทางการจัดจำหน่าย และมีตลาดรองรับ ซึ่งจะทำให้ราคาเกลือทะเลมีเสถียรภาพมากขึ้น แลพื้นที่นาเกลือได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและเกิดความยั่งยืนต่อไป