สยามคูโบต้า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดศรีสะเกษ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ในจังหวัดศรีสะเกษ สร้างโมเดล “ศรีสะเกษ เมืองต้นแบบปลอดการเผา” มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร รวมถึงส่งเสริมระบบบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร สานต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” โดยกว่า 54% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน สยามคูโบต้าในฐานะผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน”
ในปีพ.ศ. 2562 สยามคูโบต้า เกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย โดยนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery Solutions) และองค์ความรู้ด้านการเกษตร (Knowledge Solutions) ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจรมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ ภายในปีพ.ศ. 2565 สยามคูโบต้าจึงมุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลอดการเผาผ่านกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เชียงใหม่ และมหาสารคาม พร้อมทั้งลงพื้นที่ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งจังหวัดปลอดการเผา ในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย 12 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ เลย หนองคาย ร้อยเอ็ด มุกดาหาร พะเยา กำแพงเพชร สระแก้วและราชบุรี
ในปีนี้ สยามคูโบต้าริเริ่มความร่วมมือโครงการฯ ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดอุบลราชธานี และได้สานต่อโครงการฯ ให้เห็นผลอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ในจังหวัดศรีสะเกษ ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงผู้แทนจำหน่ายคูโบต้าในจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อผลักดันให้ศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ภายใต้แนวคิด “ศรีสะเกษ เมืองต้นแบบปลอดการเผา”
“เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในจังหวัดศรีสะเกษ ครั้งนี้ได้วางเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่องค์ความรู้กระบวนการผลิตพืชโดยวิธีปลอดการเผา รวมถึงส่งเสริมระบบบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และยังตั้งเป้าหมายสร้างแปลงตัวอย่าง ร่วมกับเกษตรกรต้นแบบ ในการส่งเสริมวิธีการทำเกษตรปลอดการเผา เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ใน จ.ศรีสะเกษอีกด้วย” นายพิษณุ กล่าว
โครงการ “เกษตรปลอดการเผา” ยังเดินหน้าสนับสนุนในด้านตลาดรับซื้อฟางข้าวในพื้นที่ ด้วยจังหวัดศรีสะเกษมีตลาดการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีศักยภาพ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวเฉลี่ยกว่า 3,148,433 ไร่ คูโบต้าจึงวางเป้าหมายในการส่งเสริมพื้นที่การซื้อขายฟางข้าวระหว่างเกษตรกรกับผู้รับซื้อ ผ่านการสร้างความร่วมมือกับตลาดรับซื้อวัสดุเหลือใช้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งสหกรณ์ภายในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่ต้องการฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวกว่า 120.15 ล้านก้อนเพื่อนำไปพัฒนาเป็นอาหารปศุสัตว์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลภายในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีความต้องการฟางประมาณ 8.89 ล้านก้อน เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
ด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานในพิธี เปิดเผยว่า “จังหวัดศรีสะเกษ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการริเริ่มณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดศรีสะเกษ จึงพร้อมร่วมมือกับสยามคูโบต้า ผลักดันโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) เพื่อตอบรับนโยบายงดการเผาในพื้นที่การเกษตรของภาครัฐ มุ่งแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ตั้งเป้าหมายในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2565”
สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือโครงการฯ ไปยังทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้และลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรของตนเอง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป