คำต่อคำ “กฎหมายจีเอ็มโอสำคัญจริงหรือ?” ร้อนๆจากงานแถลงข่าวที่ ม.เกษตรฯ
ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายจีเอ็มโอ เปิดแถลงข่าว ชี้ให้เห็นว่าทำไมต้องสนับสนุน และมีความจำเป็นอย่างไร

หมายเหตุ-เกษตรก้าวไกล : เมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2560  เวลา 9.30 -12.00 น. ณ ห้องลีลาวดี อาคารเคยูโฮม ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการแถลงข่าว เรื่อง “พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนั้น สำคัญไฉน” หรือกฎหมาย “จีเอ็มโอ” โดยผู้จัดหลักประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานสมาพันธ์เกษตร ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืนแห่งชาติ ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ CropLife Asia และศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยี ชีวภาพและความปลอดภัยทางชีวภาพ (BBIC) ได้เชิญสื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟังในประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาคส่วนต่างๆ  ดังนี้

1) สรุป พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ : นายวิชา ธิติประเสริฐ

2) ผลกระทบต่องานวิจัยและพัฒนาในไทย : รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

3) ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ : นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

4) อนาคตของภาคการเกษตรไทย : นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ

โดยมี นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในฐานะที่ “เกษตรก้าวไกล” เป็นเว็บไซต์ข่าวเกษตรที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพฉบับนี้ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดในอนาคต เพราะมีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน ซึ่งในส่วนของผู้สนับสนุนก็คือผู้จัดงานครั้งนี้ รายละเอียด ดังนี้

คึกคักทีเดียว
คึกคักทีเดียว
  • พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เดินทางถึงไหนแล้ว?

คุณวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กล่าวว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพูดถึงเรื่องของ Thailand 4.0 เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งหลายประเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านของสาธารณสุข และการเกษตรอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตามในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย หรือเครื่องมือที่จะใช้ในการกำกับ/ผลิตงาน  และดูแลให้เกิดนวัตกรรมใหม่เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และขยายช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีชีวภาพนั้น รวมทั้งพืช จุลินทรีย์บกและจุลินทรีย์น้ำ ซึ่งประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่จะกำกับดูแลโดยตรง ที่ผ่านมามีกฎหมายเฉพาะเรื่อง และกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงาน เช่น พ.ร.บ.กักพืช 2507 ที่กรมวิชาการเกษตรดูแล ซึ่งเน้นแค่เรื่องของการนำเข้าเป็นหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลภาพรวม ทั้งเรื่องของการวิจัยและการใช้ประโยชน์ในประเทศ ทั้งๆที่ผ่านมาประเทศไทยมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพระดับปริญญาเอกจำนวนมาก แต่เพราะเราไม่มีกฎหมายที่จะกำกับดูแลภาพรวมงานวิจัย และการพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ ทำให้เราต้องเสียโอกาสต่างๆอย่างน่าเสียดาย

ที่ผ่านมางานวิจัยเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพอยู่แค่ในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถทดลองหรือทดสอบในแปลงเกษตรกร นอกจากจะทำให้งานวิจัยไม่ครบถ้วนกระบวนการแล้ว เกษตรกรไทยยังเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะในส่วนของโรคพืชหลายชนิดที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ เช่น โรงจุดวงแหวนในมะละกอ หนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ และต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรไทยบางชนิดไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นได้

ทั้งที่เทคโนโลยีชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น Thailand 4.0 เพราะเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศแล้วว่า เทคโนโลยีชีวภาพสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องโรค และแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่างๆกว่า 60 ประเทศที่อนุญาตและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพในการพัฒนาด้านการเกษตร รวมทั้งมีพื้นที่ปลูกพืช GM ทั่วโลกรวมกว่า 1 ล้านไร่ และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆจะนำมาใช้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคการเกษตรมากขึ้น รวมทั้งพื้นที่ปลูกพืช GM ก็จะขยายเพิ่มขึ้นด้วย

ในส่วนของประเทศไทยแม้จะเริ่มต้นทำการวิจัย และศึกษาเรื่องเทคโนโลชีวภาพมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่จากมติครม.ที่ห้ามไม่ให้ทำการทดลองระดับแปลง รวมทั้งกรณีปี 2544 ที่เกิดเหตุการณ์การบุกรุกทำลายแปลงปลูกมะละกอ GM ที่ท่าพระ ของกรมวิชาการเกษตร จนเป็นที่มาให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะร่างกฎหมายดูแลและควบคุมจุลินทรีย์และสัตว์ขึ้น

อย่างไรก็ตามจนปัจจุบัน กฎหมายดูแลและควบคุมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีชีวภาพยังไม่เกิดขึ้น   เนื่องจากขาดความชัดเจนในกรอบเวลาการศึกษา และปัญหาการคัดค้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2550 ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่มีกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน ท้ายสุดร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น

ต่อมาเมื่อปลายปี 2558 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบในรอบแรก แต่ก็เกิดปัญหาคัดค้านจากกลุ่ม  NGO ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังขาดความชัดเจน ทำให้เรื่องตกไปอีกครั้ง จนกระทั่งทาง สนช.ได้หยิบยกร่างกฎหมายต่างๆที่ผ่านการเห็นชอบในรอบรอบจากคณะรัฐมนตรีมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ จึงถูกพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งการพิจารณาทบทวนในครั้งนี้ก็ถูกท้วงติงประเด็นว่า ภาคเอกชนมีส่วนร่วมน้อยเกินไป/ ความเสียหายจากพืช GM ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมีการเสนอว่าควรมีการวางเงินมัดจำ/ ชนิดของพืชที่จะควบคุมหรือไม่ควบคุม / นำเข้าได้หรือไม่ เป็นต้น ในเบื้องต้น สนช. มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ รับผิดชอบทบทวนเรื่องดังกล่าวต่อไป

ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดูแล ควบคุมกำกับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีชีวภาพ ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศที่ประกาศชัดเจนว่าไม่ส่งเสริมการปลูกพืช GM ก็ยังมีกฎหมายดูแล ควบคุมกำกับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ และกำกับดูแลการผลิตพืชในประเทศ ตลอดจนตอบคำถามกับประเทศคู่ค้าต่างๆ

เราต้องยอมรับว่า คนไทยบริโภคพืช GM มานานแล้ว ทั้งที่เราประกาศว่าไม่ส่งเสริมปลูกพืช GM แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรไทยบางส่วนปลูกพืช GM ทั้งในส่วนของมะละกอ และฝ้าย ซึ่งการบริโภคและใช้ในประเทศอาจไม่ส่งผลกระทบ แต่ถ้าผลผลิตพืช GM ถูกส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และตรวจพบว่าเป็นพืช GM ทั้งที่ประเทศไทยยืนยันว่าเราไม่มีพืช GM จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และความน่าเชื่อถือภาพรวมของสินค้าเกษตรไทยทั้งระบบ

ส่วนคำถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ล่าสุด ถ้าออกมาแล้วจะเข้มงวดเกินไปและกระทบต่อการทำงานวิจัยหรือไม่นั้น เบื้องต้นเป็นการวางกรอบคณะกรรมการกำกับดูแล เช่น ด้านพืช กรมวิชาการเกษตรดูแล, ด้านประมง  กรมประมงดูแล, ด้านสัตว์ กรมปศุสัตว์ดูแล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนเรื่องสัดส่วนของตัวแทนจากทุกฝ่าย

ประเด็นเรื่องของการมีส่วนร่วม เดิมกำหนดว่ากรณีพืชที่ผ่านการประเมินว่าปลอดภัยให้หน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบโดยผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานเป็นผู้พิจารณา ควบคู่ไปกับรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะ แต่ถูกคัดค้านว่าควรกลับไปสู่การพิจารณาอนุมัติจากัฐมนตรีอีกครั้ง

สำหรับเรื่องการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ฝ่ายคัดค้านเสนอว่าควรมีการวางเงินมัดจำ ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าควรจะวางมัดจำหรือไม่

ส่วนประเด็นที่กังวลว่า กฎหมายนี้ใช้กำกับดูแลงานวิจัยในประเทศ ซึ่งอาจะกระทบต่อการทำงานวิจัยนั้น ในเบื้องต้นยังให้คำตอบไม่ได้ แต่เชื่อว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯมีมาตรฐานและกรอบการทำงานวิจัยที่ชัดเจนอยู่แล้ว

ประเด็นสุดท้ายเรื่องบทลงโทษ ถ้ากำหนดไว้รุนแรงเกินไป น่าจะมีผลให้นักวิจัยไม่กล้าที่จะทำการวิจัยหรือเสนอโครงการวิจัย เพราะไม่ต้องการเสี่ยง

อย่างไรก็ตามถึงแม้ร่าง พ.ร.บ. ล่าสุดจะยังมีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน แต่การที่ สนช.จะนำมาพิจารณาทบทวนถือเป็นเรื่องที่ดีและน่ามีความหวัง ยังเชื่อมั่น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย และยืนยันอีกครั้งไม่ว่าประเทศไทยจะปลูกพืช GM หรือไม่ก็ตาม แต่เราจำเป็นต้องมีกฎหมายดูแลกำกับการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อที่เราจะได้มีเครื่องมือที่ได้มาตรฐานในการตรวจสอบรับรอง และยืนยันสินค้าเกษตรไทย รวมทั้งสินค้าเกษตรนำเข้าต่างๆได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆสามารถทำได้ ทุกวันนี้เรามีมะละกอ GM และถั่วเหลือง GM แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะเราไม่มีเครื่องมือที่จะใช้ตรวจสอบ

  • จีเอ็มโอกับผลกระทบต่องานวิจัยและพัฒนาในไทย

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพัตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าที่ผ่านมาการศึกษาวิจัย และโครงการวิจัยเกี่ยวกับพืช GM หรือเทคโนโลยีชีวภาพ มีกระบวนการตรวจสอบและกรอบการควบคุมที่ชัดเจนเป็นระบบ ทั้งเงื่อนไขและกรอบเวลาการวิจัย/ทดสอบที่ควบคุมตั้งแต่ห้องปฏิบัติการ โรงเรือนปฏิบัติการและแปลงภาคสนาม ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการควบคุมทุกขั้นตอนการศึกษา ขณะที่การศึกษาวิจัยด้านอื่นๆไม่มีเงื่อนไขและกรอบการควบคุมที่ชัดเจนขนาดนี้ แต่เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทำให้คนไทยไม่เข้าใจพืช GM และมองว่าเป็นผู้ร้าย

ทั้งที่พืช GM เป็นตัวเลือกที่จะช่วยพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรของไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาเรื่องโรคและแมลงที่ไม่สามารถแก้ด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น โรคจุดวงแหวนในมะละกอ หนอเจาะสมอฝ้าย การเพิ่มสาร Curcuma ในขมิ้น เป็นต้น

ปัจจุบันคนไทยร้อยละ 80 เข้าใจว่าประเทศไทยปลอดพืช GM ทั้งที่เรารับประทานและใช้พืช GM เป็นปกติในชีวิตประจำวันเพียงแต่เราไม่ทราบ และประเทศไทยไม่อนุญาตให้ปลูก สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาเพราะเมื่อเราไม่มีกฎหมายที่จะดูแล กำกับควบคุมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้เราไม่สามารถทดลองในภาคสนามได้ จึงเสียโอกาสในการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเดินหน้าและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพอย่างจริงจัง เช่น เมียนมาร์กำลังวิจัยเรื่องฝ้าย อินโดนีเซียวิจัยเรื่องอ้อยทนแล้ง หรือแม้แต่หลายประเทศในแอฟริกาก็กำลังวิจัยพืช GM หลายชนิด

ที่น่าเป็นห่วงคือ ประเทศไทยไม่มีงานวิจัย และไม่อนุญาตให้ทดลองพืช GM ในแปลงทดสอบ แต่เราบอกว่าประเทศไทยจะก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ายุค 4.0 ไม่ใช่แค่คำว่าดิจิทัล แต่หมายถึงการพัฒนาและสร้างนวัตกรรม / เทคโนโลยีของตนเองได้ ส่วนยุค 3.0 คือการรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ยุค 2.0 คือการใช้เทคโนโลยีสมัยเก่า และยุค 1.0 คือการเกษตรที่อาศัยฟ้าฝน ดังนั้นถ้าพิจารณาจากคำนิยามนี้จะเห็นว่าภาคการเกษตรไทยยังอยู่แค่ยุค 1.0 เท่านั้น

ถ้าเรายังไม่ชัดเจน และคัดค้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ ในอนาคตสินค้าเกษตรไทยหลายชนิดจะได้รับผลกระทบและไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นได้ รวมทั้งเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นรุนแรงกว่าในปัจจุบัน เพราะขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้พัฒนาสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง เช่น สหรัฐบีทรูทเพื่อนำมาผลิตเป็นสารให้ความหวานแทนอ้อย หรือการวิจัยพืชแดนดิไลออน เพื่อทดแทนยางพารา

เมื่อ 2 ปีก่อนประเทศเวียดนามเริ่มปลูกข้าวโพด GM ประมาณ 1,000 ไร่ ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2016  พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพด GM ของเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 625,000 ไร่ ให้ผลผลิต 200 ตัน และคาดว่าภายในปี 2020 พื้นที่ปลูกข้าวโพด GM ของเวียดนามจะเพิ่มเป็น 2 ล้านไร่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันประเทศเวียดนามอยู่ในยุค 3.0 คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในยุค 1.0 คือเป็นการเกษตรที่พึ่งพาฟ้าฝนเท่านั้น

  • ความสำคัญต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

คุณพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่าขณะที่ประเทศไทยบอกว่า เราเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆของโลก คำถามคือเราได้สังเกตหรือไม่ว่าในซุปเปอร์ชั้นนำของเรา มีสินค้าเกษตรนานาชนิดจากต่างประเทศเข้ามาวางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ภายใต้สโลแกนอาหารปลอดภัย และอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคไทยที่รักและใส่ใจสุขภาพ

เมื่อรวมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และกระแสบนโลกโซเซียล ในอนาคตเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง 2 เรื่องที่ชัดเจนคือ “2 ขึ้น” คือ มากขึ้นและเร็วขึ้น  กับ  “2 ลง” คือ เล็กลงและถูกลง รวมทั้งโครงสร้างธุรกิจจะมีการปรับตัว คน 1 คนสามารถดูแลและบริหารจัดผ่านอินเตอร์เน็ตได้เอง

ปัจจุบันธุรกิจอาหารมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อาหารสัตว์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเป็นเหตุให้ความต้องการวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่ประเทศต่างๆมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสินค้าเกษตร ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตลดลง จึงเป็นเหตุผลให้ที่ผ่านมารัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ โดยการกำหนดภาษีและเงื่อนไขการรับซื้อภายในประเทศ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศที่ไม่สามารถแข่งขันกับผลผลิตจากประเทศผู้ผลิตรายอื่นได้ ตัวอย่างเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งกำหนดเงื่อนไขว่าการนำเข้าจะต้องรับซื้อถั่วเหลืองในประเทศด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องผลผลิตต่อไร่ที่ค่อนข้างต่ำ และต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้แต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าสูงถึง  5 ล้านตัน และผลผลิตถั่วเหลืองที่นำเข้ามาทั้งหมดเป็นถั่วเหลือง GM

ทั้งนี้ความต้องการวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่การเกษตรที่ถูกต้องมีจำกัดและมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง เช่น ป่าสงวน พื้นที่สูงชัน ในอนาคตพื้นที่เหล่านี้จะไม่สามารถนำมาผลิตสินค้าเกษตรได้ เนื่องจากในเวทีการค้าโลกกำหนดเป็นเงื่อนไขไม่ส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ที่ไม่ต้อง ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิบัติมิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและการส่งออกสินค้าเกษตรไทยทั้งระบบ จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข และหาทางเพิ่มผลผลิตต่อไร่ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำเพื่อสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ไม่เช่นนั้นในอนาคตเราจะต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศอื่นทั้งหมด

ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนามส่งเสริมการปลูกพืช GM หลายชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาลักลอบนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย บริเวณตามแนวชายแดนได้ เพราะตามปกติเกษตรกรก็มีการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชบริเวณชายแดนอยู่แล้ว

กรณีข้าวโพด เป็นประเด็นที่เราถูกตั้งคำถามจากประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอดเรื่องที่เราห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านปีละกว่า 500,000 ตัน แต่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่ายอดลักลอบนำเข้าสูงถึงปีละ 1 ล้านตัน

จากปัญหาที่เกิดขึ้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถพิสูจน์และตรวจสอบได้มาเพิ่มศักยภาพการผลิตของภาคการเกษตรไทย ที่สำคัญความรู้ทางวิทยาศาสตร์ควรพิสูจน์และตรวจสอบตามหลักการวิชาการ ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานสากล ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อหรือความรู้สึก ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพูดคุยด้วยเหตุผล และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

ผู้สนใจอภิปรายสนับสนุน
ผู้สนใจอภิปรายสนับสนุน
บทสรุปของการแถลงข่าวครั้งนี้ (ดูได้จากจอภาพ)
บทสรุปของการแถลงข่าวครั้งนี้ (ดูได้จากจอภาพ)
  • อนาคตของภาคเกษตรไทยกับจีเอ็มโอ

คุณสุกรรณ์ สังข์วรรณะ ตัวแทนเกษตรกรจากสุพรรณบุรี กล่าวว่าปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของไทยมี ประมาณ 149 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้มีพื้นที่ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่ของกรมชลประทานแล้วประมาณ 30 ล้านไร่ ขณะที่เหลือเป็นพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรในลักษณะพึ่งฟ้าพึ่งฝน ท่วมกลางการแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรงแบบนี้ เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะในอนาคตสินค้าเกษตรไทยจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีการค้าได้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

ที่ผ่านมาเราไม่เคยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีแค่มาตรการชะลอปัญหา ดังนั้นถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ แต่กลับพบว่าสินค้าเกษตรไทยหลายชนิดมีผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ และต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายอื่น

ขณะนี้เกษตรกรในประเทศลาว และกัมพูชา เริ่มปลูกข้าว GM เพื่อส่งไปขายให้กับประเทศเวียดนาม และบางส่วนก็ทะลักเข้ามาบ้านเราตามแนวชายแดน ซึ่งเหตุผลที่เกษตรกรปลูกพืช GM เพราะเขาไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย เขาทำไปเพื่อความอยู่รอด สำหรับเกษตรกรแล้วเมื่อทราบว่ามีพันธุ์ที่ต้านโรค และให้ผลผลิตสูงถึงจะเป็นพืช GM เขาก็พร้อมจะปลูก เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น พันธุ์ทั่วไปก็ไม่ต้านทานโรคและให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้ม

ข้อจำกัดเรื่องความไม่ชัดเจน และไม่มีกฎหมายดูแลกำกับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้เกษตรกรไทยไม่มีสิทธิ์เลือก และเสียโอกาสที่จะทำอย่างถูกต้อง แต่ถึงจะไม่ถูกต้องถ้าเมล็ดพันธุ์พืช GM ลักลอบเข้ามาได้เกษตรกรไทยก็พร้อมปลูกอยู่ดี ก็เหมือนกรณีที่เกษตรกรยังจำเป็นที่ต้องปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องและพื้นที่สูงชัน นั้นก็เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น

ทุกวันนี้เกษตรกรไทยก็เสียเปรียบเรื่องศักยภาพการแข่งขันอยู่แล้ว ทั้งๆที่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะและฝีมือด้านการเกษตร แต่กลับไม่มีทางเลือกและไม่ได้รับการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรไทย แล้วอย่างนี้เกษตรกรไทยจะสามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้พัฒนาภาคการเกษตรได้อย่างไร

ภาคการเกษตรไทยทุกวันนี้ ไม่มีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใดๆที่จะมาสนับสนุนให้เกษตรกรไทยสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ โดยเฉพาะการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 คำถามคือ เมื่อไม่สนับสนุนการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งต้านทานโรคและให้ผลผลิตสูง อาศัยเพียงเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชแบบเก่าที่เกือบทุกประเทศไม่ใช้กันแล้ว เราจะเอาอะไรไปสู่กับประเทศผู้ผลิตรายอื่น

ยืนยันอีกครั้งว่า เกษตรกรไทยสามารถหาทางออกได้เช่นเดียวกับภาคเอกชน นั้นคือ ที่ไหนมีต้นพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์ดี เกษตรกรจะสามารถมาปลูกได้ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตลง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องแต่เพื่อความอยู่รอดเกษตรกรก็ต้องทำ ปัญหาที่จะตามมาคือ เมื่อผลผลิตเหล่านั้นถูกส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศก็ถูกตีกลับ เพราะประเทศไทยประกาศว่าเราไม่มีพืช GM แต่กลับตรวจพบพืช GM ปะปนในผลผลิตที่ส่งไปจากประเทศไทย ที่สำคัญจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความน่าเชื่อถือสินค้าเกษตรไทยทั้งระบบ.

หมายเหตุ : หลังจากการแถลงข่าวจบลงได้เปิดโอกาสให้มีการซักถาม แต่โดยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ได้นำมารายงานในส่วนนี้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated