นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ เป็นแหล่งผลิตกระเทียมอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศความหนาวเย็น เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ลักษณะพื้นที่ปลูกเป็นดินมูลทรายที่เป็นดินตะกอนลุ่มน้ำโบราณลำน้ำมูลและลำน้ำสาขามูล ที่ทับถมมานาน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์สูง ประกอบกับเมื่อผสมกับดินโพนหรือดินจอมปลวกตามภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน จึงทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
จากการติดตามสถานการณ์การผลิตกระเทียมของจังหวัดศรีสะเกษ (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 19 มกราคม 2564) คาดว่า ปีเพาะปลูก 2563/64 มีเนื้อที่เพาะปลูก 638 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 597 ไร่ (เพิ่มขึ้น 41 ไร่ หรือร้อยละ 7) ผลผลิตรวม 527 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 489 ตัน (เพิ่มขึ้น 38 ตัน หรือร้อยละ 7.77) ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 826กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 819 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 7 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 0.85) เนื่องจากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น มีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และไม่มีฝนช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาอยู่ในเกณฑ์ดีในปีที่ผ่านมาจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งจังหวัดมีทิศทางเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 และจะออกตลาดมากที่สุดเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมดในจังหวัด
ด้านต้นทุนการผลิตกระเทียมของจังหวัดศรีสะเกษ เฉลี่ย 25,783 บาท/ไร่ หรือคิดเป็น 31 บาท/กก. เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 70 – 80 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 826 กก./ไร่ ได้ผลตอบแทน 90,034 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 64,251 บาท/ไร่ หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะนำกระเทียมมามัดจุกรวมกันและนำไปแขวนตากในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทดี ไม่โดนฝน น้ำค้าง และแสงแดด ประมาณ 7 – 15 วัน ทำให้กระเทียมแห้งสนิท มีคุณภาพดี ด้านราคากระเทียมแห้งมัดจุกปีนี้ คาดว่าปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มกราคม 2563) เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ผลผลิตมีคุณภาพ ประกอบกับตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง หากจำแนกราคา แต่ละขนาด (ราคา ณ 19 มกราคม 2564) พบว่ากระเทียมแห้งหัวใหญ่มัดจุกเฉลี่ย 121 บาท/กก. สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีราคา 110 บาท/กก. กระเทียมแห้งหัวกลางมัดจุกเฉลี่ย 110 บาท/กก. สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีราคา 100 บาท/กก. และกระเทียมแห้งหัวเล็กมัดจุก เฉลี่ย 96 บาท/กก. สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีราคา 86 บาท/กก.
สำหรับสถานการณ์ตลาดกระเทียมแห้งมัดจุก พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 50 จำหน่ายให้กับพ่อค้าในชุมชน พ่อค้ารายย่อย พ่อค้าเร่ ซึ่งจะมารับซื้อจากเกษตรกรถึงแหล่งผลิต เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าทั่วไปภายในจังหวัด ผลผลิตร้อยละ 20 ส่งจำหน่ายจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุบลราชธานี และยโสธร ส่วนจังหวัดอื่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และชลบุรี ผลผลิตร้อยละ 25 เกษตรกรจะเก็บส่วนหัว และกลีบ ไว้สำหรับทำพันธุ์ในการเพาะปลูกรอบถัดไป ส่วนผลผลิตที่เหลืออีกร้อยละ 5 เกษตรกรจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน
ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าวเพิ่มเติมว่า กระเทียมศรีสะเกษเป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีลักษณะเด่น คือ เปลือกนอกสีขาวแกมม่วงเปลือกบาง หัวแน่น กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ฝ่อ ซึ่งกลิ่นและรสชาติมีความโดดเด่นแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากแหล่งอื่น อีกทั้ง จังหวัดศรีสะเกษ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ส่งเสริมการปลูกกระเทียมในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิตและบริหารจัดการร่วมกัน โดยมีตลาดรองรับ ที่แน่นอน ลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้กับเกษตรกรในจังหวัดอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรเฝ้าระวังโรคหัวและรากเน่า โรคใบจุดสีม่วง และโรคใบไหม้ อาจส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้ นอกจากนี้ เกษตรกรควรเพาะปลูกในพื้นที่ดินมูลทรายหรือ ดินจอมปลวกจะทำให้กระเทียมเจริญเติบโตดี มีคุณภาพดี สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่ากระเทียมจากแหล่งอื่น สำหรับเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตกระเทียมของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11 อุบลราชธานี โทร.045 344 654 หรืออีเมล zone11@oae.go.th