ปัจจุบันปัญหาหนึ่งของการเกษตรคือ เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งพันธุ์ดี และพันธุ์ดียังมีราคาแพง ในขณะที่พืชหลายชนิดยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศอยู่มาก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืช 10 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการผลิตและขยายพันธุ์พืชในชั้นพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายไปสู่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer แปลงใหญ่ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่มีความต้องการ ผ่านกลไกงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และยังผลิตรองรับพืชเศรษฐกิจที่มีปัญหาโรคพืชแฝงติดไปกับต้นพันธุ์ เช่น ท่อนมันสำปะหลัง รวมทั้งกรณีประสบปัญหาภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ก็ได้สนับสนุนพันธุ์พืชผักสวนครัว เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ช่วงฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร ดังนั้น การสร้างพืชพันธุ์ดีจึงช่วยส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตทางการเกษตรที่ดีและมีคุณภาพ
คุณวันชัย ไพรศรีจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ข้อมูลว่า การผลิตพืชพันธุ์ดีถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตร เพราะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีต้นพันธุ์พืชที่ดีไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนและเพื่อการค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เป็นการสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นในอาชีพทำการเกษตร ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ส่งจำหน่ายได้ราคาดี จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 เมื่อปี 2545 โดยทั้งประเทศจะมีศูนย์ขยายพันธุ์อยู่ด้วยกัน 10 แห่ง กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ดังนี้ เพชรบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และอุดรธานี
โดยภารกิจของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 มีหน้าที่ขยายและสนับสนุนพืชพันธุ์ดีให้กับสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 13 จังหวัด ทั้งภาคกลางและภาคตะวันตก ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการส่งเสริมพันธุ์พืชให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยทางธรรมชาติและการพัฒนาอาชีพทางการเกษตร โดยพืชที่สนับสนุนเป็นพืชที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง กล้วยหอมทอง สับปะรด MD2 และหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์บล็อคอิมพรูฟ
“การดำเนินงานของศูนย์ฯ แบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งเป็นนโยบายที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดขึ้นมา จะสนับสนุนพืชอะไรให้เกษตรกร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดมีหน้าที่เข้าไปสอบถามข้อมูลจากเกษตรกร เพราะเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรมากที่สุด ว่าเกษตรกรต้องการอะไร หลังจากนั้นสำนักงานเกษตรจังหวัดก็จะเข้ามาวางแผนร่วมกับเรา เมื่อมีเกษตรกรที่ชัดเจน มีพื้นที่ที่ชัดเจน เราก็จะมาผลิตพืชตามเป้าหมายสนับสนุนออกไป ศูนย์ฯ ของเรามีการเพาะเมล็ดพันธุ์พริกซุปเปอร์ฮอต เพื่อสนับสนุนเกษตรกรด้วย ซึ่งในหลายๆ โครงการในแต่ละปี ไม่ว่าพี่น้องเกษตรกรจะประสบปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้ผลิตพืชเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในจังหวัดที่รับผิดชอบอยู่เป็นประจำ แต่การทำงานหลักๆ ของเราก็จะเน้นในเรื่องของการผลิตและขยายพันธุ์พืชที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออย่างเดียว” คุณวันชัย กล่าว
พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ช่วยให้ได้พืชดีตรงตามสายพันธุ์
คุณวันชัย เล่าว่า ข้อดีของพืชที่ผ่านกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือสามารถขยายพันธุ์พืชได้ในปริมาณที่มากและใช้ระยะเวลาไม่นาน แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักของพืชที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะช่วยในเรื่องของพืชมีความปลอดโรค โดยโรคพืชต่างๆ จะไม่ติดไปกับต้นพันธุ์ จึงทำให้เกษตรกรได้พืชสายพันธุ์ดี มีคุณภาพ พืชตรงตามสายพันธุ์ไปปลูกในแปลงของตัวเอง
“ขั้นตอนแรกของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก็จะมีการทำงานหลายขั้นตอน วิธีการคร่าวๆ ก็คือ จะต้องมีการคัดเลือกพืชพันธุ์ดี เป็นพืชที่คัดมาจากแปลงเกษตรกร หลังจากได้พืชพันธุ์ดีแล้ว จะนำพืชนั้นเข้ามาทำตามกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยในขั้นตอนแรกจะฟอกฆ่าเชื้อเพื่อให้พืชมีความสะอาด เมื่อพืชโตจนได้ขนาดก็จะนำมาตัดขยายเพื่อเพิ่มปริมาณ และนำมาปลูกลงในสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่กระตุ้นการแตกกอ หลังจากขยายได้ระยะเวลา 5-6 เดือน เมื่อพืชเริ่มมีต้นที่สมบูรณ์ จึงชักนำให้พืชเกิดราก ก็จะเสร็จสิ้นกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” คุณวันชัย กล่าว
โดยพืชพันธุ์ดีที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ก่อนที่จะส่งถึงมือเกษตรกร ทางศูนย์ฯ จะนำมาอนุบาลอีกครั้งหนึ่ง โดยล้างวุ้นอาหารที่ติดกับรากออกให้หมด เมื่อล้างอาหารเสร็จจะนำต้นพืชชำลงในถาดหลุม และนำไปดูแลในโรงเรือนอนุบาล ในระยะนี้พืชมีอายุการอนุบาลที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น พันธุ์กล้วย ใช้เวลาอนุบาลประมาณ 2 เดือน สับปะรด ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และหน่อไม้ฝรั่ง ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน เมื่อครบกำหนดอนุบาลแล้วก็จะส่งต้นกล้าพืชสนับสนุนให้กับเกษตรกรนำไปปลูกได้ทันที
“พืชพันธุ์ดีที่เราขยายและสนับสนุนจะเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง สับปะรด MD2 เป็นสับปะรดทานผลสด เนื้อกรอบ ที่เราทำสนับสนุนให้กับเกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ ยังมีหน่อไม้ฝรั่งพันธุ์บล็อคอิมพรูฟ ที่เพาะขยายให้เกษตรกรเครือข่ายอยู่ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ตอนนี้เครือข่ายขยายไปถึงอำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ เราสนับสนุนไปเมื่อปีที่แล้ว 23,000 ต้น ตอนนี้เกษตรกรปลูกหน่อไม้ฝรั่งสามารถส่งผลผลิตเข้าตลาดโลตัส ได้มาตรฐาน GAP เป็นผลงานของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 เอาไปขยายผลในเขตภาคอีสาน” คุณวันชัย กล่าว
ราคาจำหน่ายถูกกว่าท้องตลาด เกษตรกรได้พันธุ์ดีมีคุณภาพ
ในเรื่องของการจำหน่ายพืชพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรนั้น คุณวันชัย บอกว่า ราคาจำหน่ายพืชภายในศูนย์เป็นราคาที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีพืชพันธุ์ดีปลูกในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด และเกษตรกรมั่นใจได้ว่าพืชที่ได้รับจากทางศูนย์ฯ นั้น เป็นพืชที่ปลอดโรคและถูกต้องตามสายพันธุ์อย่างแน่นอน เพราะการผลิตพืชพันธุ์ดีแต่ละครั้งจะเน้นในเรื่องของมาตรฐานเป็นหลัก จะต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพทุกครั้ง เมื่อผ่านมาตรฐานแล้วก็จะจำหน่ายสู่พี่น้องเกษตรกรทันที
“ราคาจำหน่ายที่ได้มา เราไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่เป็นราคาที่ทางกรมกำหนด อย่างเช่น สับปะรด จำหน่ายหน่อละ 20 บาท ความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร กล้วย ความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร จำหน่ายต้นละ 15 บาท หน่อไม้ฝรั่ง จำหน่ายต้นละ 25 บาท และสับปะรดสี จำหน่ายต้นละ 15 บาท คือราคานี้พี่น้องเกษตรกรมั่นใจได้ว่าเป็นราคามาตรฐานที่กรมกำหนดขึ้นมาเลย ราคาถูกกว่าท้องตลาด คุณภาพก็ดีกว่า ตรงตามสายพันธุ์ทุกอย่าง ส่วนพี่น้องที่ต้องการการสนับสนุนเราก็มีแจก เพื่อสนับสนุนให้กับเกษตรกรด้วยเช่นกัน” คุณวันชัย กล่าว
พันธุ์พืชดี ช่วยเกษตรกรมีผลผลิตดี
คุณสุเทพ ศรีคำ เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ปรับเปลี่ยนจากอาชีพอื่นมาทำอาชีพเกษตร โดยได้รับการสนับสนุนพืชพันธุ์ดีจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 ซึ่งเกษตรกรรายนี้ได้ปลูกพืชที่แตกต่างกันไปตามฤดูการผลิต อย่างช่วงหน้าแล้งจะปลูกพริก ถั่วฝักยาว และแตงกวา จึงทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและจำหน่ายได้ราคา เกิดผลกำไร
“ช่วงนี้ เดือนมีนาคม เมษายนนี้ ค่อนข้างที่จะแล้ง พอดีได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี เอาพริกมาให้ปลูก ก็จะสับเปลี่ยนปลูกพืชกันไป ช่วงเมษายนนี้จะแล้ง ทุกพื้นที่ไม่มีน้ำ ท่านก็ได้สนับสนุนพริกซุปเปอร์ฮอตมาให้ปลูก เป็นต้นพันธุ์ที่ทางศูนย์ฯ ได้ทำมาให้เป็นต้นกล้าแล้ว ทำให้เรามาปฏิบัติต่อได้ไม่ยุ่งยาก เรานำมาปลูกลงแปลง ดูแลจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ที่ผ่านมาผลผลิตก็ค่อนข้างมีผลกำไรจากพืชที่ทางศูนย์ฯ สนับสนุนมา” คุณสุเทพ กล่าว
สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจในเรื่องของการปลูกพืช และต้องการพืชพันธุ์ดีไปปลูกในพื้นที่ของตนเอง สามารถเข้ามารับคำปรึกษาหรือหารือข้อมูลเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่เพื่อวางแผนการผลิตให้ถูกต้องตามฤดูกาลต่อไป สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ เลขที่ 1 หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 035-440-360