ในการประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 15 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเร็วๆนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถานำ เรื่อง “การขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยด้วยงานวิจัย”
จากนั้น มอบรางวัล 2015 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awards ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยรุ่นใหม่ และนักวิจัยรุ่นกลางที่มีผลงานวิจัยดีเด่น ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักพิมพ์ Elsevier ผู้จัดทำฐานข้อมูลวารสารวิชาการนานาชาติ Scopus เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ และนักวิจัยรุ่นกลาง ที่มีผลงานจากโครงการวิจัยที่อยู่ระหว่างรับทุนของ สกว. หรือสิ้นสุดโครงการแล้วไม่เกิน 2 ปี อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม ทั้งคุณภาพของผลงานวิจัย และผลกระทบต่อวงการวิชาการและสังคม เพื่อให้มีกำลังใจในการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไป และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักวิจัยผู้รับทุนในการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูง
รางวัลนักวิจัยรุ่นกลางดีเด่น 2015 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awardsได้แก่
- รศ. ดร. เทวัญ จันทร์วิไลศรี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “ตัวบ่งชี้ชีวภาพของโรคมะเร็งโพรงจมูกร่วมคอหอย”
- ดร. ศิษเฎศ ทองสิมา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เรื่อง “กระบวนการทางคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยค้นหาตำแหน่งของเครื่องหมายทางพันธุกรรมจากการศึกษาความสัมพันธ์ของจีโนไทป์กับโรคซับซ้อนที่พบได้บ่อย”
- ผศ. ดร. อมรชัย อาภรณ์วิชานพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การออกแบบแบบวิเคราะห์ระบบเซลล์เชื้อเพลิงสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน”
- ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เรื่อง “ระบบปฏิบัติการของไหลจุลภาคบนชิปที่มีวัสดุนาโนประกอบรวมสำหรับการวิเคราะห์ทางเคมีอย่างรวดเร็ว”
- ผศ. ดร. วรวัฒน์ มีวาสนา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เรื่อง“การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่”
- รศ. ดร. ศุภวัจน์ รุ่งสุริยะวิบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง“แบบจำลองเชิงพลวัตสำหรับวัดประสิทธิภาพและการเติบโตผลิตภาพทางการเกษตร”
รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น 2015 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards ได้แก่
- ผศ. ดร. ยสวันต์ ตินิกุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง “การควบคุมโดยฮอร์โมนประสาทต่อการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์ของกุ้งเศรษฐกิจของประเทศไทย”
- ดร. จิตติมา พิริยะพงศา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เรื่อง “การใช้ชีวสารสนเทศในการศึกษากลไกการทำงานของไมโครอาร์เอ็นเอและโรคในมนุษย์”
- รศ. ดร. ทรงยศ นาคอริยกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง“การใช้การคัดเลือกคุณลักษณะในด้านชีวสารสนเทศและในด้านการตรวจสอบคุณภาพอาหาร”
- ผศ. ดร. ธงไทย วิฑูรย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนาแคลเซียมออกไซด์สำหรับดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อุณหภูมิสูงและการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารเคมีมูลค่าสูง”
- ผศ. ดร. ศักดิ์ศรี สุภาษร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่อง “การพัฒนาความเข้าใจระดับโมเลกุล เรื่อง อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมีและไฟฟ้าเคมีด้วยชุดการทดลองเคมีย่อส่วนต้นทุนต่ำสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย”
- ผศ. ดร. เกรียงไกร ราชกิจ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรื่อง “เสถียรภาพและการทำให้เสถียรของระบบสลับแบบไม่ต่อเนื่องทางเวลาที่มีตัวหน่วงแปรผันตามเวลา”
รวมทั้งยังมีการมอบรางวัล TRF-Thomson Reuters-OHEC Research Excellence Awards ซึ่ง สกว. สกอ. ร่วมกับ บริษัท ทอมป์สัน รอยเตอร์ (ผู้ให้บริการฐานข้อมูลรายใหญ่ของโลก และผู้จัดทำฐานข้อมูลวารสารวิชาการนานาชาติ Web of Science) จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยที่รับทุนองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา หรือวุฒิเมธีวิจัย สกว. ที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยจะพิจารณาจากรายชื่อของวุฒิเมธีวิจัย สกว. ที่ได้รับทุนตั้งแต่ปี 2555-2557 ที่มีผลงานจากโครงการวิจัยที่ได้รับทุน สกว. ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Web of Science ที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุด
รางวัลวุฒิเมธีวิจัย สกว. ดีเด่น 2015 TRF-Thomson Reuters-OHEC Research Excellence Awards ได้แก่
- รศ. ดร. เควิน เดวิด ไฮด์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง “อนุกรมวิธาน วงศ์วานวิวัฒนาการ และชีวเคมีของเชื้อราในกลุ่ม Basidiomycetes และAscomycetes ที่พบในประเทศไทย”
- ศ.ดร. ดันแคน ริชาร์ด สมิท สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง“ไวรัสที่ติดต่อโดยยุง: การศึกษากลไกพื้นฐานเพื่อการพัฒนาวิธีรักษา”
- ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เรื่อง “การพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพแบบบูรณาการในการแปรสภาพวัสดุชีวมวลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเพื่อต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรม”
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยทั้งหมดจะนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งในวงการวิทยาศาสตร์ วงการแพทย์ วงการอุตสาหกรรม เพื่อการก้าวสู่การพัฒนาประเทศขั้นสูงต่อไป