นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้มะพร้าวของไทย ปี 2564 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนมีนาคม 2564) ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีผลผลิตมะพร้าวรวม 0.876 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิต 0.827 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) โดยผลผลิตปีนี้ ทยอยออกสู่ตลาดมาตั้งแต่เดือนมกราคม และจะออกมากไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2564 คิดเป็นปริมาณรวม 0.644 ล้านตัน (ร้อยละ 73 ของผลผลิตทั้งประเทศ) ในขณะที่ความต้องการใช้ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ประมาณ 1.269 ล้านตัน จึงคาดว่าในปีนี้จะมีการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ 0.418 ล้านตัน อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ความต้องการใช้ในช่วงครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มลดลง โดยพบว่า ราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนมิถุนายน 2564 เฉลี่ย 10.67 บาท/ผล ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีราคาผลละ 12.98 บาท หรือลดลงร้อยละ 18
สำหรับการบริหารจัดการนำเข้ามะพร้าว คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้มีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เห็นชอบการกำหนดช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวผลตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ในช่วงที่ 1 เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ และ ช่วงที่ 2 เดือนกันยายน – ธันวาคม (รวม 6 เดือน) ทั้งนี้ เพื่อให้สัดส่วนการนำเข้าและการรับซื้อผลผลิตในประเทศมีความสมดุลกับปริมาณผลผลิต และไม่กระทบต่อราคามะพร้าวผลที่เกษตรกรขายได้ ซึ่งต่อมา คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ได้มีการพิจารณาช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวผลตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ช่วงที่ 2 คือ ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 โดยจะใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าว ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้า
“ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีความต้องการนำเข้ามะพร้าว ภายใต้ความตกลง AFTA ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 ควรรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศให้มากขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านราคาและปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดกระจุกตัวในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม โดยผู้ประกอบการต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมทั้งขอให้จัดส่งเอกสารเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา มายัง สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ ท่านสามารถ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร 0 2579 0611 ได้ตลอดในวันและเวลาราชการ” รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย