สสก.3 จ.ระยอง เคาะแล้ว เกษตรกรดีเด่นอาชีพทำไร่ระดับเขตปี 64 ปลูกอ้อยโรงงาน ผลผลิต 1 ไร่ ได้ 15 ตัน เผย ใช้หลัก มุ่งพัฒนา เพิ่มเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้ในการผลิต ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก. 3 จ.ระยอง) เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการคัดเลือก เกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นที่ผ่านการคัดเลือกจากระดับจังหวัด เพื่อส่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรพิจารณาคัดเลือกเป็นดีเด่นระดับประเทศ ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญต่อไปนั้น
ในส่วนของสาขาทำไร่ระดับเขตนั้นคณะกรรมการพิจารณาให้ นายชวการ ช่องชลธาร เกษตรกรทำไร่อ้อย และ Young Smart Farmer จังหวัดชลบุรี เป็นเกษตรกรดีเด่นอาชีพทำไร่ ระดับเขต ปี 2564
นายปิยะ กล่าวต่อไปว่า ด้วย นายชวการ เป็นเกษตรกรรายที่มีวิสัยทัศน์ในการทำงานแบบ “มุ่งพัฒนา เพิ่มเทคโนโลยี ลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยปลูกอ้อยโรงงานกว่า 60 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 15 ตันต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยของพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศจะอยู่ที่ 10-13 ตันต่อไร่
“มีการปรับสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยแบบร่องคู่ ทำให้สะดวกในการบริหารจัดการ กำจัดวัชพืชด้วยรถไถระหว่างร่องและใส่ปุ๋ยในคราวเดียว ทำให้ลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืช เก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดอ้อย ควบคู่เครื่องอัดใบอ้อยจึงไม่ต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกในรอบต่อไป และรับจ้างอัดใบอ้อย ตัดอ้อย ให้กับเกษตรกรที่สนใจรายอื่นๆ สร้างรายได้กว่า 800,000 บาท ต่อรอบการผลิต นับเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตและการจัดการแปลงปลูก เพื่อลดปัญหาการเผาเศษซากอ้อย ในช่วงเก็บผลผลิตช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังนำแผงโซล่าเซลล์มาปรับใช้ ในการให้น้ำอ้อยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ภายในแปลงปลูกอีกด้วย” นายปิยะ กล่าว
ด้าน นายชวการ ช่องชลธาร กล่าว ว่า ได้ยึดหลักการทำงาน 4 M คือ Man Machine Money Management คือ การบริหารจัดการโดยลดกำลังคน ลดแรงงาน ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม เครื่องจักร เข้ามาประยุกต์ใช้ มีการดัดแปลงเครื่องจักร เช่น เครื่องโรยขี้ไก่ เครื่องอัดใบอ้อย เครื่องตัดอ้อย รถไถ และเครื่องใส่ปุ๋ยเคมี พร้อมวางแผนการผลิตให้ตรงกับสภาพอากาศและความต้องการของตลาด
“ปัจจุบันเป็นวิทยากรในโครงการเสริมสร้างทักษะ และส่งเสริมอาชีพการเกษตร กิจกรรม อบรมเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ด้วยการถ่ายทอดความรู้เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพให้แก่ผู้รับการอบรมนำไปปฏิบัติใช้เพื่อสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน ขณะที่แปลงปลูกเป็นแปลงต้นแบบและเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการเข้ามาศึกษาดูงานของผู้ที่สนใจทั่วไป”นายชวการ กล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดให้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่และยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะชน เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพตนเอง ตลอดจนเป็นเกษตรกรต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาผลงานจากตัวอย่างจริงของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น ที่ประสบความสำเร็จด้านการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรต่อไป