แม้ประเทศไทยจะยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร แต่สำหรับตลาดต่างประเทศที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย พร้อมเปิดประเทศอีกครั้ง ก็เป็นโอกาสของไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการทำตลาดส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้น
เห็นได้จากข้อมูลการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโต 20.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และโฟกัสเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็เป็นกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรของไทยเป็นที่ยอมรับและยังมีความต้องการในระดับโลกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อให้พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) โดย บริษัท ทิปโก้ ไบโอเท็ค จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอย่างสับปะรดรายใหญ่ของไทย ได้วิจัยและคิดค้นสายพันธุ์สับปะรดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการบริโภคสับปะรดที่เพิ่มขึ้น โดยได้ริเริ่มการพัฒนาสับปะรดสายพันธุ์ “ทิปโก้หอมสุวรรณ” ในปี พ.ศ.2540 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพทางพืชของทิปโก้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และใช้เวลาจนถึง พ.ศ.2551 กว่าที่จะได้สายพันธุ์สับปะรดที่ได้รสชาติและคุณภาพตามที่ต้องการ
สับปะรดพันธุ์ทิปโก้หอมสุวรรณ 11 ปีแห่งการคิดค้นและพัฒนา
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การพัฒนาสับปะรดพันธุ์ทิปโก้หอมสุวรรณ เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์เนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์ ตลอดจนย้ายมาปลูกในแปลงได้สำเร็จ แม้ใช้เวลายาวนานถึง 11 ปี แต่ถือเป็นความสำเร็จในด้านนวัตกรรม R&D ของทิปโก้ ได้เป็นอย่างดี
โดยจากการวิจัยและพัฒนาทำให้ทราบว่า นอกจากความพิถีพิถันเป็นพิเศษภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรที่มีประสบการณ์แล้ว การเตรียมดินเพื่อปลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งทิปโก้ใช้เทคนิคการปั่นซากผลผลิตเก่าแล้วไถกลบเพื่อให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติ พร้อมปูแผ่นพลาสติกสั่งทำพิเศษบนดิน ช่วยรักษาคุณภาพดินให้กักเก็บความชุ่มชื้นได้ตลอดเวลา ถือเป็นเอกลักษณ์ของการปลูกสับปะรดพันธุ์ทิปโก้หอมสุวรรณ ซึ่งไม่มีในการปลูกที่อื่น
“สับปะรดใส่หมวก” ที่เดียวในประเทศไทย
สับปะรดพันธุ์ทิปโก้หอมสุวรรณ เป็นสับปะรดสายพันธุ์เดียวในประเทศไทยที่ใช้เทคนิคการคลุมผลสับปะรด หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “ใส่หมวกให้สับปะรด” โดยเมื่อสับปะรดออกผลได้อายุ 2 เดือนครึ่ง – 3 เดือน จำเป็นต้องใส่หมวกเพื่อป้องกันแสงแดดมาสัมผัสผิวของสับปะรดมากเกินไป ซึ่งหมวกที่นำมาใส่ให้ก็ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
และเมื่อถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ยังมีเทคนิคการเก็บเกี่ยวโดยเทียบสีเปลือกตามมาตรฐาน (Shell Color Standard) แตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล อย่างในฤดูฝน จะเลือกสีเปลือกในโทนสีที่ต่ำกว่า ขณะที่ฤดูหนาวและร้อนจะเก็บสับปะรดที่มีสีเปลือกโทนสีที่สูงขึ้น เพื่อให้สับปะรดสุกได้ระดับพอดี นำมาคัดคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนส่งต่อไปถึงมือผู้บริโภค
“เอกลักษณ์ของสับปะรดพันธุ์ทิปโก้หอมสุวรรณ คือ มีเนื้อสีเหลืองทอง รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม ค่าความเป็นกรดต่ำ ทำให้ไม่กัดลิ้นหรือคันคอ เปลือกบาง ปอกง่าย และมีวิตามินซีสูงกว่าสับปะรดพันธุ์อื่น นอกจากนี้ ยังเป็นสับปะรดไทยพันธุ์เดียว ที่ได้รับรางวัล Superior Taste Award ระดับ 3 ดาว จากสถาบันรับรองรสชาติเครื่องดื่มและอาหารนานาชาติ (iTQi) ประเทศเบลเยียม ถึง 2 ปี ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้โดยฝีมือคนไทย” นายยงสิทธิ์ กล่าว
เดินหน้าต่อยอดนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ วางเป้าโต 15-20%
ปัจจุบัน สับปะรดพันธุ์ทิปโก้หอมสุวรรณ มีจัดจำหน่าย 2 กลุ่มประเภท คือ กลุ่มสับปะรดผลสดทั้งในรูปแบบผลสดทั้งลูกและแบบตัดแต่ง จัดจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไป ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยนำผลสดไปกวนเป็นไส้สับปะรด ผลิตเป็นแครกเกอร์ชีส และแครกเกอร์ไส้สับปะรดหอมสุวรรณ จุดเด่น คือ การใช้สับปะรดพันธุ์ทิปโกหอมสุวรรณล้วน ทำให้ได้รสหวานธรรมชาติ ไม่ใช้น้ำตาลหรือสารเติมแต่งความหวานแต่อย่างใด ตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ มองหาสินค้าหรือขนมที่ไม่ทำให้อ้วนหรือน้ำตาลสูง จำหน่ายผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ต หัวเมืองท่องเที่ยว และช่องทางออนไลน์เป็นหลัก
“เร็วๆ นี้ บริษัทเตรียมที่จะพัฒนาสับปะรดสายพันธุ์ใหม่ๆ รวมถึงการต่อยอดธุรกิจสินค้าแปรรูปจากสับปะรดและผลไม้อื่นๆ ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการหลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังมีโอกาสอีกมากจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย คาดว่าช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป จะมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น ตั้งเป้าอัตราการเติบโต 15 -20% ต่อปี” นายยงสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย