เกษตรกรภาคตะวันออกคึกคักปรับกระบวนการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดผ่านโซเชียล ภาครัฐชื่นชมปรับตัวได้ดีเป็นช่องทางเข้าถึงการส่งเสริมและสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เกษตรกรย้ำไม่ปรับตัววันนี้ วันหน้าก็ต้องปรับตัว
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง) เปิดเผยว่า ทาง สสก.3 จ.ระยอง ได้ใช้แพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นในการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารระหว่างส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วมีต้นทุนต่ำในภาวะวิกฤติโควิด-19 ระบาด และสามารถสื่อสารแบบสองทางกับเกษตรกรได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาพบกันในการดำเนินงานนั้น สสก. 3 จ.ระยอง ได้มีการใช้สื่ออย่างหลากหลายเพื่อช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของเกษตรกร เช่นรูปแบบคลิปวิดีโอที่เข้าใจง่ายและส่งผ่านช่องทาง Social media ที่เกษตรกรใช้งานเป็นอยู่แล้ว และภายใต้สถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ทาง สสก.3 จ.ระยอง ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อการปรับตัวในการให้การบริการด้านการเกษตรแก่เกษตรกร ซึ่งเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่งานส่งเสริมการเกษตรแก่เกษตรกรจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ตลอดเวลา หนึ่งในนั้นก็คือการใช้วิธีส่งเสริมผ่านระบบออนไลน์ มีการประชุมอบรมในกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น เช่น Zoom, Google Meet กับกลุ่มเกษตร-แปลงใหญ่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน
“อย่างการประชุมเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายของแปลงใหญ่ ซึ่งคณะกรรมการเป็นเกษตรกร 100 เปอร์เซ็นต์ เขาสามารถจัดการประชุมและสื่อสารถึงกันกับสมาชิกได้ดีมาก นับเป็นการปรับตัวที่เห็นได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ก็ได้ใช้แนวทางและวิธีการนี้เช่นกัน นับเป็นการปรับตัวในการทำการผลิตของเกษตรกรภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีการปรับตัวกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าในอนาคตเกษตรกรเหล่านี้จะมีการพัฒนาแนวทางในการทำการผลิตและการตลาดเชิงรุกมากยิ่งขึ้น” นายปิยะกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านเจ้าหน้าที่ก็ยังคงสามารถสื่อสารและติดต่อกับกลุ่มเกษตรกร ในการทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา นับเป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เข้ามากระตุ้นให้งานด้านการผลิตภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากไม่เปลี่ยนในวันนี้วันหน้าก็ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ที่น่ายินดีก็คือความกระตือรือร้นของเกษตรกรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้ และเป็นที่น่าชื่นชมที่เกษตรกรมีการปรับตัวได้เร็วมากทำให้ผลกระทบในทางลบต่อภาคการเกษตรไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนากระบวนการผลิตภาคการเกษตรของไทยในวันข้างหน้า ส่วนการทำการตลาดตามแนวทางดังกล่าวที่ผ่านมาพบว่า ประสบความสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจ นับเป็นการช่วยปลดล็อคการเข้าถึงตลาด จากเดิมที่เกษตรกรอาจไม่ได้ประโยชน์จากระบบตลาดมากนักเนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานที่ยาว ช่องทางการซื้อปัจจัยการผลิตและขายผลผลิตมีจำกัดและผูกขาดกับพ่อค้าคนกลาง แพลตฟอร์ม e-commerce จึงเป็นช่องทางที่สามารถเข้ามาช่วยเชื่อมต่อเกษตรกรรายย่อยเข้ากับผู้ซื้อได้โดยง่าย ทำให้เกษตรกรเข้าถึงฐานผู้บริโภคในวงกว้างอย่างไม่จำกัดพรมแดน ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น เว็บไซต์ของกรมส่งเสริมการเกษตรที่เปิดให้เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรนำสินค้ามาประชาสัมพันธ์เพื่อการจำหน่ายและการสั่งซื้อของผู้บริโภคเป็นตลาดออนไลน์
“นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในปัจจุบัน เช่นในช่วงนี้ใกล้จะถึงเทศกาลปีใหม่แล้วก็ขอฝากของขวัญที่เป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกซึ่งจะมีการนำมาจัดเป็นกระเช้า แบบหลากหลายผู้สนใจสามารถเลือกสั่งได้ทางออนไลน์” นายปิยะ กล่าว