กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงให้ความสำคัญอันดับแรกกับนโยบายลดต้นทุนการผลิต สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน และเกษตรกรต้องสามารถต่อยอดเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดบูรณาการการทำงานในทุกมิติ เพื่อให้เกษตรกรทุกภาคส่วนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และภาคเกษตรต้องมีความมั่นคง ยั่งยืน โดยใช้ระบบการสั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri – Map) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งต้องมีการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
โดยล่าสุด กระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุมทุกหน่วยงานในสังกัดถึงแผนการขับเคลื่อนการเกษตร โครงการ Zoning by Agri – Map ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมประมาณ 1,686,000 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาปลูกข้าว บางส่วนยกร่องปลูกผักทำสวนผลไม้ และพื้นที่ดอนส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อ้อย สับปะรด ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วต่างๆ บางพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลา และหอย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว แต่ยังมีเกษตรกรที่ปลูกข้าวอยู่ในพื้นที่ที่ทำการเกษตรที่เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ซึ่งสภาพพื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินตื้นขาดความอุดมสมบูรณ์ และขาดแคลนน้ำ โดยเป็นนาข้าว 31,000 ไร่ สับปะรด 4,400 ไร่ มันสำปะหลัง 1,000 ไร่ ซึ่งในปี 2560 นี้ เกษตรกรบางส่วนที่ปลูกข้าวมีความประสงค์และพร้อมจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ตามแผนที่ Agri – Map ที่สร้างรายได้ที่ดีกว่า เช่น ปลูกอ้อย 1,450 ไร่ สับปะรด 300 ไร่ ทำการเกษตรผสมผสาน 500 ไร่ เลี้ยงสัตว์ 585 ไร่ และทำประมง 7.5 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 2,642.50 ไร่
นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้วางแผนงานเข้าไปพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรของจังหวัดราชบุรี ที่มีปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินงานและยกเป็นตัวอย่าง เป็นจังหวัดนำร่อง โดยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สภาพเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้ในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้อง กำหนดมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำไปพร้อมกับการทำเกษตรกรรมและด้านอื่นๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ให้การฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลดีของการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแผนที่ Agri – Map เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตจากนาข้าวเป็นพืชชนิดอื่นๆ ทำปศุสัตว์ ทำประมง เกษตรทฤษฎีใหม่ การเกษตรผสมผสาน ที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรดิน การจัดการเพาะปลูกพืช การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ทำน้ำหมักชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ช่วยกันโรครากเน่าโคนเน่า สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสีย ขจัดกลิ่นเหม็นในคอกสัตว์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ทำสารขับไล่แมลงศัตรูพืช แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด (ปอเทือง) ปลูกเพื่อปรับปรุงบำรุงดินดิน ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก พืชเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการ ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
อย่างไรก็ตาม จากนโยบายดังกล่าวของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) ให้แก่เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร โดยการดำเนินการจะสำเร็จได้จะต้องเกิดจากตัวเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องมีกำลังใจที่ดี มีความมุ่งมั่น เข้มแข็ง และเปิดใจยอมรับคำแนะนำในการที่จะเปลี่ยนแปลงจากการผลิตแบบเดิมๆ ไปเป็นการทำการเกษตรสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น มีการใช้นวัตกรรมองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ต้องหาโอกาสเข้าไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยวิชาการจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรทั่วประเทศ (ศพก. 882 ศูนย์) ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่การเกษตรของตนเองและชุมชน ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ท้าทายของเกษตรกรไทย ในการก้าวข้ามสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้มีผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสานต่อทำให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลปฏิบัติสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงและเกิดความยั่งยืนมั่นคงอย่างแท้จริง