ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหนึ่งในพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้ประชาชนคนไทยได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ยึดหลักความพอเหมาะพอดี มีเหตุมีผลและไม่ประมาท ทรงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนคนไทย ในหลายยุคหลายสมัย ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้อย่างราบรื่น และทรงชี้แนะแนวทางให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินชีวิตในทางสายกลาง

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเผยแพร่สู่สมาชิกเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงและสามารถพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน

เรืองศักดิ์   สีตะริสุ  ประธานสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด

โดยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่น้อมนำไปประยุกต์ใช้จนประสบผลสำเร็จ และมีรูปแบบการบริหารจัดการเป็นแบบอย่างสำหรับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรอื่นได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยในปี 2564 คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรจำนวน 10 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ สหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด จ.สุรินทร์

นายเรืองศักดิ์ สีตะริสุ ประธานสหกรณ์โคเนื้อสุรินทร์วากิวยางสว่าง จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มาปรับใช้ทั้งการดำรงชีวิตของสมาชิกและการดำเนินงานของสหกรณ์ ในหลายกิจกรรม เช่นการทำนา การผลิตข้าวพันธุ์ การผลิตข้าว GAP ไปจนถึงข้าวอินทรีย์ การเลี้ยงปลาอินทรีย์ การเลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงกระบือ ซึ่งนอกจากขายเป็นโคกระบือเนื้อแล้วยังจำหน่ายมูลสัตว์ และนำมาใส่ในแปลงเพาะปลูกพืช ไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมีสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก 

“มีการส่งเสริมการปลูกถั่วฮามาต้าใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยปลูกทั้งเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์และขายเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งมีที่เดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ที่มีผลผลิตเชิงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผลผลิตไม่เพียงพอตามความต้องการของตลาด นับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เป็นอย่างดีให้กับสมาชิกและมีการทำ MOU กับบริษัทผู้รับซื้อจึงมีตลาดที่แน่นอน ควบคู่กับส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ให้สมาชิกได้ปลูกพืชแบบหลากหลาย มีแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ทำกินของตัวเอง ทำให้สมาชิกมีเงินใช้และเหลือเก็บไปจนรุ่นลูกหลานได้มีความสุขอย่างยั่งยืน” นายเรืองศักดิ์ กล่าว

ประธานสหกรณ์ฯ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า สหกรณ์จะมีการจัดระบบการผลิตให้กับสมาชิก เช่น เลี้ยงสัตว์อย่างไรที่จะไม่ลงทุนเยอะและไม่เสียเปล่า โดยเปิดอบรมให้สมาชิกในทุกๆด้าน นับตั้งแต่การการผลิตอาหารสัตว์ การแปรรูปอาหาร หากข้าวราคาตกก็นำมาแปรรูปจากราคากิโลกรัมละ 8 บาท ก็เพิ่มเป็น 19 บาท โดยสหกรณ์รับซื้อเพื่อส่งขายต่อทั้งหมด

“เราทำได้เพราะมีตลาดที่ทำ MOU ไว้ อย่างพันธุ์ข้าวส่งทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จากรายได้ 8,000 บาทต่อตันก็จะได้ 19,000 บาท ต่อตันหลังนำมาแปรรูปแล้ว รายได้ของสมาชิกก็เพิ่มขึ้นก็จะมีเงินมาใช้ชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ สหกรณ์ฯ ก็เอามาลงทุนซื้ออุปกรณ์ทางด้านการเกษตรสนับสนุนการผลิตของสมาชิกต่อไป” ประธานสหกรณ์กล่าว 

จากการได้รับรางวัลในครั้งนี้ นายเรืองศักดิ์ สีตะริสุ เผยว่าได้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับสหกรณ์ในการทำงานและพัฒนาแนวทางการส่งเสริมให้กับสมาชิกทำการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อผู้บริโภคมากขึ้น สมาชิกตื่นตัวและมีแรงใจในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ต่อยอดในการใช้ชีวิตและทำการผลิตต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated