วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม จังหวัดชุมพร หวังบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชุมพรให้ได้มากที่สุด
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า บริเวณอำเภอเมืองชุมพรมักเกิดน้ำท่วมหลากจากลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่ คลองท่าตะเภา และ คลองชุมพร พื้นที่รวมประมาณ 79,500 ไร่ แยกเป็น ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา 42,000 ไร่ ลุ่มน้ำคลองชุมพร 37,500 ไร่
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวชุมพรเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวชุมพรเป็นอย่างยิ่ง ทรงทราบถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับชาวชุมพร ได้มีพระราชดำริให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง – พนังตัก ให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน อีกหลายอย่าง อาทิ 1. พิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค – บริโภคและในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายน้ำสู่ทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตักได้อีกด้วย
โครงการแก้มลิง “หนองใหญ่” ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย (ภาพจากน้าตู่)
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริด้วยการดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัย ประกอบด้วย 15 กิจกรรม ดังนี้ 1. ขุดคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก และก่อสร้างอาคารประกอบ 2. ประตูระบายน้ำหัววัง 3. ประตูระบายน้ำสามแก้ว (ใหม่) 4. ขุดลอกคลองท่าตะเภาและคลองสาขาในบริเวณลุ่มน้ำ 5. ขุดคลองระบายน้ำบ้านดอนทรายแก้วพร้อมปรับปรุงคันกั้นน้ำและอาคารประกอบ 6. ขุดคลองระบายน้ำท่านางสังข์ – บ้านบางตุ่มพร้อมอาคารประกอบ 7. โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ 8. ขุดลอกคลองละมุเชื่อมกับคลองท่าแซะ 9. ศึกษาและวางแผนระบบเตือนภัยน้ำท่วมเมืองชุมพร 10. คันกั้นน้ำคลองสามแก้วและคลองสาขาพร้อมอาคารประกอบ 11. ขุดลอกคลองชุมพรและคลองสาขา 12. ปรับปรุงคลองระบายน้ำสามแก้วพร้อมอาคารประกอบ 13. ปรับปรุงประตูระบายน้ำพนังตักและอาคารประกอบ 14. ประตูระบายน้ำท่าตะเภา และ 15. ประตูระบายน้ำท่าแซะ (รายละเอียดข่าวเพิ่มเติมคลิกชมได้จากเกษตรก้าวไกลLIVE https://fb.watch/b4rAuIXqrQ/)
ในส่วนของลุ่มน้ำคลองชุมพร เกิดจากต้นน้ำในเขตอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีความยาวลำน้ำประมาณ 75 กิโลเมตร สภาพท้องคลองมีความลาดชันสูง คดเคี้ยวและมีขนาดแคบ ทั้งสองฝั่งคลองมีบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชุมชนเมือง ช่วงปลายคลองเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อน้ำทะเลหนุนจะรุกล้ำเข้ามาในลำคลองเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ในขณะที่มีขีดความสามารถในการระบายน้ำได้ประมาณ 140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในคลองชุมพรเอ่อล้นตลิ่ง
กรมชลประทาน ได้วางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองชุมพร โดยการตัดยอดน้ำของคลองชุมพรให้สามารถไหลออกสู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการท่วมขังบริเวณถนนสายเอเชีย 41 (โดยเฉพาะ กม.33-34 ช่วง อ.สวี ที่มักท่วมซ้ำซาก) และบริเวณพื้นที่ตอนล่างในเขตอำเภอเมืองชุมพร พร้อมกับการขุดคลองผันน้ำ เพื่อผันน้ำจากคลองชุมพรผ่านคลองขุดใหม่เชื่อมต่อกับคลองนาคราช และขุดขยายคลองนาคราชให้สามารถระบายน้ำได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งขุดลอกคลองชุมพรเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขุดขยายคลองชุมพรเดิมช่วงปลายให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากคลองผันน้ำ จำนวน 1 แห่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองชุมพร จำนวน 3 แห่ง
บรรยากาศการลงพื้นที่บริเวณประตูระบายน้ำคลองชุมพร
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างอำเภอเมืองชุมพร และสามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำคลอง เพื่อใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้ง 6.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 6,875 ไร่ โดยภาพรวมทั้งโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นอกจากจะช่วยระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แล้ว ยังมีประโยชน์เก็บน้ำไว้ใช้ในภาคเกษตร โดยส่วนใหญ่จะปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ฯลฯ (รายละเอียดเพิ่มเติมคลิกชมได้จากคลิปเกษตรก้าวไกลLIVE https://fb.watch/b4rro1pe5H/)