“กรมชล” เร่งรัดโครงการแก้มลิงทุ่งหิน บรรเทาน้ำแล้ง-น้ำท่วมชาวสมุทรสงครามแบบยั่งยืน
“กรมชล” เร่งรัดโครงการแก้มลิงทุ่งหิน บรรเทาน้ำแล้ง-น้ำท่วมชาวสมุทรสงครามแบบยั่งยืน

“กรมชลประทาน” เร่งเครื่องลงมือขุดลอกแก้มลิงทุ่งหินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถรับน้ำปริมาณได้มากขึ้น โดยระยะแรกมีปริมาณดินขุด 932,221 ลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 ชี้หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดและบรรเทาปัญหาการเกิดอุทกภัยให้ประชาชนในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน เพื่อที่จะได้กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้การดำเนินการเป็นนโยบายสำคัญของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ที่ได้มีข้อสั่งการเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาโครงการแก้มสิงทุ่งหิน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัยให้กับประชาชนในพื้นที่จ.สมุทรสงคราม โดยการดำเนินการในระยะแรกมีปริมาณดินขุด 932,221 ลูกบาศก์เมตร ได้วางเป้าหมายแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565นี้

สำหรับโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิ ดำเนินโครงการในลักษณะการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงเพื่อเก็บกักปริมาณน้ำหลากที่เกินความต้องการและก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยไว้ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งขึ้น ภายใต้ชื่อ“โครงการแก้มลิงทุ่งหิน” ตั้งอยู่บ้านต้นลำแพน ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา มีพื้นที่ 2,623 ไร่ 2 งาน 23.2 ตารางวา ปัจจุบันทางจังหวัดสมุทรสงครามเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ควรนำมาทำเป็นแก้มลิงขยายผลตามโครงการพระราชดำริ โดยมอบให้โครงการชลประทานสมุทรสงคราม สำรวจ ออกแบบโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดช่วงฤดูแล้ง การกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคการทำการเกษตร และการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการสูญเสียปริมาณน้ำจืดในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งจัดเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน โดยมีความจุที่ระดับเก็บกักน้ำได้ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร

มีพื้นที่โดยประมาณ 2,623 ไร่ มีคันกั้นน้ำยาว 11.7 กิโลเมตรซึ่งตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหิน เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2564 โดยระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 – 2576 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะช่วยเพิ่มปริมาณกักเก็บของแก้มลิงจาก 6  ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เป็น 9 ล้าน ลบ.ม. สามารถบรรเทาอุทกภัยได้ 4,000 ไร่ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงหน้าฝน ลดความเสียหายต่อพื้นที่เศรษฐกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำให้ชาวสมุทรสงครามมีแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

โดยกำหนดดำเนินการภายใต้แผน 4 ด้านหลักคือ 1.การบริหารจัดการ ได้แก่ การศึกษาเบื้องต้น การสำรวจ การออกแบบ ฯลฯ 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการเกษตร เช่น การขุดลอกแก้มลิงทุ่งหิน การก่อสร้างปรับปรุงอาคารท่อรับน้ำ ฯลฯ 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เช่น ปรับปรุงเส้นทางน้ำเข้าโครงการฯ การก่อสร้างอาคารท่อลอดรางรถไฟและ4.การจัดการคุณภาพน้ำ/อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ เช่น ปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาพื้นที่โครงการฯ  โดยในส่วนความรับผิดชอบของกรมชลประทานขณะนี้ได้ทำการสำรวจ ออกแบบโครงการฯเสร็จเรียบร้อยและอยู่ระหว่างขุดลอกแก้มลิงทุ่งหินเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแก้มลิงทุ่งหินให้สามารถรับน้ำได้ปริมาณมากขึ้น  เชื่อมั่นว่าหากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลากในช่วงฤดูฝน รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำต่างๆ ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อน สร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนได้อย่างมาก  

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา นอกจากกรมชลประทานตจะรับผิดชอบในการขุดลอกแก้มลิงทุ่งหินเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำมากขึ้นโดยการปรับปรุงให้มีความจุเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว กรมชลประทานยังได้ทำการปรับปรุงคลองประดู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำจากคลองประดู่ในช่วงที่ระดับน้ำทะเลหนุนสูงเข้ามาเก็บกักยังพื้นที่แก้มลิงก่อน   เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอยี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม ตลอดจนสามารถผันน้ำจากคลองชลประทานในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำมากและเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี นำมาเก็บกักยังพื้นที่แก้มลิงที่ปรับปรุงเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาให้กับพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามรวมถึงอำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่อยู่ใกล้เคียงได้อีกด้วย    

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated