นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยกรณีข่าวมีการจัดซื้อสารบีทีปลอมมูลค่ากว่า 198 ล้านบาทในการจัดซื้อสารบีทีของจังหวัดประจวบคิรีขันธ์ระหว่างปี 2553–2555 และพบสารบีทีปลอมถูกกองทิ้งไว้โดยไม่ได้นำไปแจกจ่ายเกษตรกรจำนวนมากนั้น ว่าการจัดซื้อสารบีทีจากการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินเมื่อปีงบประมาณ 2555 กรมวิชาการเกษตรไม่ได้เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ได้รับการประสานงานให้ตรวจสอบสินค้าดังกล่าวว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องและมีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าสารบีทีดังกล่าวไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากบีทีเป็นสารชีวินทรีย์กำจัดแมลงศัตรูพืชที่จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ใดประสงค์ที่จะผลิตหรือนำเข้าให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน พร้อมเอกกสารทางวิชาการ ได้แก่ แผนการทดลองประสิทธิภาพ และเอกสารรายงานผลการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ต่อกลุ่มวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพื กรมวิชาการเกษตรจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมและกำกับดูแลการทดสอบประสิทธิภาพของสารในแปลงทดลองของผู้ประกอบการ หากผลการทดสอบพบว่าสารที่มาขอขึ้นทะเบียนมีคุณสมบัติความเข้มข้นได้มาตรฐานตรงตามฉลากที่ขอขึ้นทะเบียน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการนำเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรต่อไป
กรณีของสารบีที่ที่จัดซื้อไว้จำนวนมากตามที่เป็นข่าวนั้นเป็นสารบีทีที่ไม่ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตกับกรมวิชาการเกษตร ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือจำคุกไม่เกิน 2ปี หรือทั้งจำและปรับ
“บีทีเป็นสารชีวภัณฑ์ที่ไม่ใช่สารเคมีที่เป็นอันตราย แต่มีคุณสมบัติในการใช้เพื่อควบคุมศัตรูพืชเช่นเดียวกับสารเคมี โดยปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี หากซื้อมาใช้แล้วเหลือเป็นจำนวนมากไม่ควรนำมาใช้ต่อเพราะเสื่อมคุณภาพแล้วการใช้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชจึงอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตามก่อนซื้อสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวให้ตรวจดูที่ฉลากข้างภาชนะบรรจุว่าได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและนำไปใช้ได้ผลจริง” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว