“ทำไมประเทศเหล่านั้นปกป้องสินค้าเกษตร เพราะว่าสินค้าเกษตรเป็นทรัพย์สมบัติของชาติสำคัญยิ่งกว่าทองคำเสียอีก หากปล่อยให้ทรัพย์สมบัติของชาติราคาถูกลงก็เท่ากับทำให้คนจนลง สินค้าเกษตรมีราคาขายเท่าไรก็เท่ากับว่าเราพิมพ์ธนบัตรออกมาได้เท่านั้น เพราะเป็นสมบัติของชาติ”
ปัจจุบันโลกไร้พรมแดน สนามรบได้กลายมาเป็นสนามการค้า อย่างที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015 จึงเป็นโอกาสสำคัญ รัฐบาลควรสนับสนุนธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยอีกมาก
จากการติดตามข้อมูลเรื่องเกษตรของประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรที่โดดเด่นไม่เป็นรองใคร ยกเว้นมาเลเซียที่เหนือกว่าใครในเรื่องปาล์ม แต่วันนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาพันธุ์ปาล์ม ซึ่งสามารถแข่งขันได้แล้ว และยังมีพันธุ์ยางที่พัฒนาก้าวไกลกว่ามาเลเซีย จนพูดได้ว่าวันนี้ยางไทยเป็นที่ 1 ของโลก
วันนี้ นักลงทุนไทยต้องหาข้อมูลการลงทุนเกี่ยวกับการเกษตรและสินค้าเกษตรในอาเซียน 10 ประเทศ ว่าในแต่ละประเทศมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร ยกตัวอย่างประเทศกัมพูชาผลิตข้าวได้ปีละเป็นล้านตัน แต่ยังไม่เคยทำตลาดส่งออกข้าว จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวของไทย ที่จะซื้อข้าวจากกัมพูชาและนำไปขายตลาดโลก ทำให้กัมพูชามีเงินตราเข้าประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังสามารถนำสินค้าอื่นๆเข้าไปขายในกัมพูชาได้อีก ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ ฯลฯ
หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมและปกป้องสินค้าเกษตรของตน ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นรวยที่สุดในโลก ก็ยังมีโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรของไทยอีกมาก ไทยเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (FTA) กับญี่ปุ่นสำเร็จ โดยไทยยอมยกเว้นการเจรจาเรื่องข้าว
ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเกษตรมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ทำไมชาวนารวยกว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก เพราะตั้งแต่สมัยโบราณจักรพรรดิญี่ปุ่นยกย่องชาวนาว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อประเทศชาติ สร้างอาหารเลี้ยงคนทั้งประเทศ การเกษตรจึงเป็นเสมือนมือซ้ายของจักรพรรดิ ส่วนมือขวาของจักรพรรดิก็คือซามูไร ซึ่งก็เป็นทหารปกป้องประเทศ ด้วยนโยบายนี้ที่มีมาแต่โบราณจึงทำให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลก รายได้เกษตรกรจึงสูงที่สุดในโลก ชาวนาญี่ปุ่นเดินทางไปเที่ยวรอบโลก พักโรงแรมระดับ5 ดาว ก็เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจดีว่า “เกษตรกรเป็นฐานของประเทศ” เหมือนเราสร้างบ้านจะสร้างตึกสูงกี่ชั้นก็ตาม ฐานรากต้องแข็งแกร่ง ถ้าสร้างตึกสูง 100 ชั้น ฐานรากก็ต้องตอกเสาเข็ม 100 ชั้น ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นมีความเข้าใจในเรื่องเกษตรว่าเป็นเสาหลักของชาติ ไม่มีประเทศไหนที่ร่ำรวยแล้วไม่ปกป้องราคาสินค้าเกษตร วันนี้การเจรจา WTO คุยกันไม่จบก็เพราะ ติดปัญหาเรื่องการเกษตรประเทศที่เจริญแล้ว ที่ร่ำรวยแล้ว แม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเหลือเกษตรกรเพียง 1 % ของประชากรทั้งหมด ก็ยังปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศ
ทำไมประเทศเหล่านั้นปกป้องสินค้าเกษตร เพราะสินค้าเกษตรเป็นทรัพย์สมบัติของชาติยิ่งกว่าทองคำเสียอีก หากปล่อยให้ทรัพย์สมบัติของชาติราคาถูกลงก็เท่ากับทำให้คนจนลง สินค้าเกษตรมีราคาขายเท่าไรก็เท่ากับว่าเราพิมพ์ธนบัตรออกมาได้เท่านั้น เพราะเป็นสมบัติของชาติ”
สินค้าเกษตร ไม่ว่า ข้าว อ้อย มัน ปาล์ม หรือ อื่นๆ จัดเป็น “น้ำมันบนดิน” ที่สำคัญกว่า “น้ำมันใต้ดิน” เพราะ “น้ำมันใต้ดิน” ใช้กับเครื่องจักรเท่านั้น แต่ “น้ำมันบนดิน” นอกจากใช้กับเครื่องจักรแทนน้ำมันแล้ว ยังเป็น “พลังงานเลี้ยงมนุษย์” อีกด้วย
เมื่อยังไม่มีอะไรมาทดแทนน้ำมันได้ ราคาน้ำมันก็ยังคงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปจะค่อยๆหมด แต่น้ำมันบนดินปีนี้ปลูกแล้วปีหน้าปลูกได้อีก รอบนี้เก็บเกี่ยวแล้วรอบหน้าเก็บเกี่ยวได้อีก สินค้าเกษตรปีหนึ่งเก็บเกี่ยวได้ถึง 3 รอบ ในขณะที่น้ำมันใต้ดินใช้แล้วยิ่งหมดไป
รัฐบาลอย่าไปคิดควบคุมราคาสินค้าเกษตร ต้องช่วยกันพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างพอเพียง
วันนี้ คำว่า “เพียงพอ” ถือว่า “ยังไม่พอ” ต้อง “พอเพียง” รายได้ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนจนในเมืองมีรายได้มากขึ้น ไม่ใช่กดราคาสินค้าเกษตรของคนจนในชนบทเพื่อมาอุดหนุนคนจนในเมือง ถ้าทำเช่นนี้แล้วประเทศไทยจะร่ำรวยได้อย่างไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศยังจนอยู่
ดังนั้น เกษตรกรไม่จำเป็นอย่าขายที่ดิน เพราะที่ดินมีค่ามากกว่าบ่อน้ำมัน ต้องพิจารณาดูว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมกับปลูกพืชอะไร ซึ่งวันนี้ยางมาเป็นอันดับหนึ่ง ยังไม่เห็นมีอะไรมาทดแทนยางได้ แล้วทุกประเทศก็ใช้รถยนต์ รถยนต์คันหนึ่งมี 4 ล้อ เมื่อใช้ไปแล้วล้อก็ต้องสึกต้องเปลี่ยนอีก ดังนั้นยางเทียมก็ต้องแพงขึ้นเรื่อยๆ ยางธรรมชาติก็ต้องมีบทบาทมากขึ้น จึงต้องส่งเสริมการปลูกยาง และต้องมีโรงงานแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รองลงมาคือปาล์มน้ำมัน ในขณะที่อ้อยไทยปลูกเป็นที่สองของโลก ถ้าเราพัฒนาพันธุ์ให้ดี เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อ้อยก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยไม่แพ้ยาง ปาล์ม
แล้วต่อไปถ้านโยบายรัฐบาลถูกต้อง ควรมีนโยบายปรับพื้นที่ทำนาในที่ระบบชลประทานไม่ดีและให้ผลผลิตข้าวต่ำมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ปาล์ม อ้อย มัน ฯลฯ เพื่อผลิตเอธานอล ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวได้ดีก็ทำระบบชลประทานให้สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูงปลูกได้หลายรอบต่อปี ทำให้เราได้จำนวนข้าวเท่าเดิม ไทยไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศส่งออกข้าวเป็นเบอร์ 1 ของโลก ประเทศไทยต้องพัฒนาบทบาท ยกระดับคุณภาพข้าวพัฒนาพันธุ์ให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น แล้วขายแบบพรีเมี่ยมเพื่อเพิ่มมูลค่าการขาย นอกจากนั้นไทยยังสามารถซื้อข้าวจาก พม่า เขมร ลาว เวียดนาม ไปขายทั่วโลกได้
การทำเกษตรสมัยใหม่ จำเป็นต้องสร้าง “เกษตรกรคนเก่ง” ให้เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น และให้ “เกษตรกรคนเก่ง” ทำหน้าที่เป็น “ผู้รับเหมาเพาะปลูก” ซึ่งเชื่อได้เลยว่าทุกหมู่บ้านต้องมี “เบอร์หนึ่ง”
ให้ชาวนาเบอร์หนึ่งที่มีความรู้ความสามารถมารับเหมาปลูกข้าวให้กับคนในหมู่บ้าน ถ้าคนเดียวไม่พอก็หาเบอร์สอง โดยต้องมีผู้สนับสนุนเงินสำหรับเครื่องจักรกลเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ ต้องลงทุนซื้อรถที่ทันสมัยให้เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
การทำเกษตรสมัยใหม่ มี 3 รูปแบบ แบบหนึ่งคือ สร้างคนเก่งในหมู่บ้านเป็นผู้รับเหมา อีกแบบหนึ่งเป็นรูปของสมาคม หรือสหกรณ์เป็นผู้นำ อีกแบบหนึ่งคือ บริษัทเอกชนเป็นผู้นำ แต่สุดท้ายผู้รับเหมาก็ต้องเป็นเกษตรกรในท้องถิ่น
หากเห็นว่ารูปแบบไหนเป็นประโยชน์ก็ทำรูปแบบนั้น หรืออาจจะทำพร้อมกัน 3 รูปแบบเลยก็ได้ เช่น การเลี้ยงสัตว์อาจจะทำ 2 รูปแบบ คือ สหกรณ์ หรือบริษัทเอกชนเป็นผู้นำร่วมกับธนาคาร แต่สหกรณ์ต้องมีเทคโนโลยีและมีตลาด ถ้าเพียงแต่กู้เงินแล้วไม่มีตลาดก็ไม่สำเร็จ ต้องไปพัฒนาระบบของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของชุมชน
การเพาะปลูกก็เช่นกัน นักธุรกิจต้องสนับสนุนเกษตรที่รับจ้างปลูก โดยหาเมล็ดพันธุ์ที่ดี แล้วขายโดยเกษตรกรไม่ต้องผ่านคนกลาง ปุ๋ยก็ไม่ต้องผ่านคนกลาง และนอกจากรับจ้างปลูกแล้ว ก็ยังรับเก็บเกี่ยวให้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถทำในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ บริษัทเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกร อย่างในอเมริกาไม่ต้องมีนักธุรกิจมารับซื้อ เพราะขายผลผลิตล่วงหน้าไปตลาดชิคาโคแล้วนำเงินมาลงทุน ธนาคารจะรู้ว่าแต่ละปีเกษตรกรปลูกได้จริงเท่าไร ก็รับผลผลิตทางการเกษตรมาจำนำแล้วปล่อยเงินกู้ให้ เมืองไทยควรอิงกับชิคาโค ถ้ายังเล็กใช้รูปแบบสหกรณ์ หรือนักธุรกิจมารับซื้อในราคาประกันที่เกษตรกรได้กำไรแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงเสียหาย
ต่อไปประเทศไทยต้องแข่งขันกับอาเซียนอีก 9 ประเทศ สำคัญที่สุดต้องไปหาข้อมูลนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะถ้าไม่มีจ้อมูลที่ถูกต้องเราเสี่ยงเอง แต่ถ้ามีข้อมูลที่ถูกต้องเท่ากับว่าเราใส่แว่นขยายเห็นชัดเลย ถนนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แล้วเราเลือกอะไรได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลไปหาข้อมูลว่าประเทศไหนเป็นอย่างไร สิ่งใดที่ประเทศไทยเสียเปรียบ สิ่งใดที่ประเทศไทยสู้ได้ อะไรที่เราสู้ไม่ได้อย่าไปสู้ ไปซื้อแล้วเอาไปขายดีกว่า เราทำตัวเป็นนักธุรกิจ วันเดียวมีกำไร เรามีตลาดอยู่ไม่ต้องกลัวใคร
จากประสบการณ์การเข้าไปลงทุนใน 15 ประเทศทั่วโลก แล้วส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เราต้องนำธุรกิจที่มีเทคโนโลยีธุรกิจที่ทันสมัยที่สุดเข้าไปลงทุน แต่มีข้อควรระวังประการหนึ่ง คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา จะยังมีความไม่พร้อมในหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยี โลจิสติกส์ การตลาดในความสำเร็จของซี.พี. นั้น ถ้าเราจะไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาต้องไปลงทุนเพื่อทำทุกอย่างให้พร้อมโดยไม่ต้องอาศัยคนอื่น มาช่วยทำความพร้อมให้ เพราะถ้ารอไปก็อาจเสียเวลา
ธุรกิจเกษตรในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ยังมีโอกาสอีกมาก เพียงแต่นักลงทุนต้องมีความพร้อมศึกษาความต้องการตลาด ที่สำคัญที่สุดคือต้องเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดไปใช้
อ้างอิง : หนังสือรวมพลคนข่าวเกษตร “ทิศทางเกษตรไทยในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” โดย สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย