กรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศมอบรางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่นประจำปี 2565 ให้กับเกษตรกรที่ชื่อ “สานนท์ พรัดเมือง” โดย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2565 ในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรมีอายุครบ 50 ปี มีการจัดงานแถลงผลงานทางวิชาการอย่างยิ่งใหญ่ และได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นที่ผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับชื่อของ “สานนท์ พรัดเมือง” ในโลกออนไลน์อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยกันมากนัก ทั้งที่จริงๆแล้ว เขาเป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน ปี 2565 โดยกรมส่งส่งเสริมการเกษตรได้ทำคลิปเผยแพร่บนยูทูปมาก่อนหน้านี้
ผลงานของนายสานนท์ ก่อนที่จะได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2565 สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ก็คือ การเป็นเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน บนพื้นที่ 10 ไร่ ตำบลบ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายสานนท์ได้ทำสวนทุเรียนด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะผลิตทุเรียนให้มีรสชาติอร่อย ผลผลิตมีคุณภาพ คงไว้ซึ่งมาตรฐาน ภายใต้แนวความคิดพัฒนาและแบ่งปันความรู้
เดิมประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางและรับซื้อเศษยางเป็นระยะเวลา 5 ปี ในเวลาต่อมาผู้ประกอบการมากขึ้น ราคายางลดลง จึงเปลี่ยนแนวคิด ตัดสินใจซื้อที่ดินจำนวน 12 ไร่ และได้ทดลองปลูกทุเรียน ในตอนแรกเกิดปัญหาและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคแมลง ผลผลิตมีน้ำหนักน้อยไม่มีคุณภาพ และสภาพต้นโทรมจึงได้วิเคราะห์หาสาเหตุ จนมีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าว จึงตัดสินใจโค่นยางพารา 7 ไร่เพื่อปลูกทุเรียนทั้งหมด และยื่นขอรับรองแหล่งผลิตทุเรียนกับ สวพ.7 ในปี 2557 และได้การรับรองแหล่งผลิต GAP กับกรมวิชาการเกษตร จนปัจจุบันเป็นผู้ที่มีความรู้และประสบความสำเร็จในเรื่องการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ และเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “สวนคุณสานนท์ สามารถเลือกที่จะขายกับล้งไหนก็ได้ เพราะผลผลิตทุเรียนที่ออกจากสวนคุณสานนท์เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ”
ในระบบการผลิต นายสานนท์ ให้น้ำโดยใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ สั่งการผ่านโทรศัพท์มือถือ การติดตั้งกล้อง CCTV ติดตั้งไฟแสงสว่างในสวน ปิด-เปิดผ่านโทรศัพท์เช่นกัน มีการเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในกระบวนการผลิต และมีการเก็บตัวอย่างดินจากอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ก่อนการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแต่ละครั้ง มีการศึกษาการเข้าทำลายของศัตรูพืชแต่ละชนิดกับระยะการเจริญเติบโตของพืช และมีการสำรวจโรคแมลงศัตรูพืชก่อน เพื่อจะได้ใช้กลุ่มใช้สารเคมีที่ถูกต้อง และใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรตามความจำเป็น ใช้วิธีการตัดหญ้าแทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช แล้วนำเศษพืช วัชพืชทำปุ๋ยหมัก มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในรูปปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกช่วยเพิ่มธาตุอาหารพืชในดินและยังช่วยทำให้ดินโปร่งร่วนซุย ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อรักษา ป้องกัน โรครากเน่า โคนเน่าในทุเรียน ใช้เชื้อบาซิลลัสกำจัดหนอนและยังสามารถใช้ในการควบคุมหนอนผีเสื้อ ศัตรูพืชหลายชนิดที่ดื้อต่อสารเคมีได้ดี ใช้เชื้อบิวเวอเรีย เมทาไรเซียม น้ำส้มควันไม้ ป้องกันกำจัดหนอนและแมลงได้หลากหลายชนิด ทั้งแมลงปากกัดและปากดูด
นอกจากนี้ยังมี การประยุกต์รถพ่นสารเคมี จากเดิมเป็นรถตุ๊ก ๆ ซึ่งมีกำลังน้อยไม่สามารถใช้ในพื้นที่สวนของตนเองได้ จึงได้นำรถยนต์ 4 ประตูซึ่งมีกำลังมากมาปรับใช้เพื่อลดการใช้แรงงานคนและเพื่อความปลอดภัยของผู้พ่น พร้อมกับมีการวางแผนการผลิตทุกปี เน้นให้ผลผลิตออกในช่วงที่ผลผลิตอื่นไม่มีออกสู่ตลาด และพัฒนาคุณภาพเพื่อการส่งออก จึงสามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อได้
ผลงานของนายอานนท์จึงนับว่าน่าสนใจที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ โดย “เกษตรก้าวไกล” หวังว่าจะมีโอกาสไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนในโอกาสต่อไป