เรื่องของการปลูกมันฝรั่งเป็นที่จับจองหมายปองกันมากขึ้นหลังจากซุ่มเงียบเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้มาระยะหนึ่ง จนวันนี้เวลานี้หน่วยงานภาครัฐได้เดินหน้าเต็มรูปแบบ อย่างเช่นล่าสุดนี้ กรมวิชาการเกษตร มีกำหนดจะจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพผลิตมันฝรั่งครบวงจร ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ในวันที่ 23 ก.พ.66 ที่จะถึงนี้ https://bit.ly/3SaoypK ในขณะที่ภาคเอกชน นำโดย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด หรือ “เป๊ปซี่โค” ผู้ผลิต “มันฝรั่งเลย์” ได้เดินหน้าพัฒนาส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งและรับซื้อมานานหลายปี และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เป๊ปซี่โคได้นำทัพสื่อมวลชนบุกดินแดนปลูกมันฝรั่งที่ใหญ่สุดของประเทศไทย ณ แปลงปลูกมันฝรั่งของ นายยุทธนา วรรณรัตน์ บ้านสันมะเค็ด ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
นายคอลิน แมทธิวส์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายซัพพลายเชน บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวถึงความมุ่งมั่นก่อนที่จะเดินทางไปดูงานแปลงปลูกมันฝรั่งที่เป๊ปซี่โคทำเป็นแปลงต้นแบบ ว่า
“หนึ่งในกลยุทธ์ PepsiCo Positive (pep+) ของเป๊ปซี่โค มีเป้าหมายและแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อผืนดิน เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้านการเกษตรบนที่ดินอันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งหมด 7 ล้านเอเคอร์ทั่วโลก จัดหาพืชผลและวัตถุดิบหลักอย่างยั่งยืน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรจำนวน 250,000 คน ในห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตรของบริษัท โดยการนำระบบเกษตรแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) และเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เข้ามาช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาวะทางชีวภาพของดิน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนศักยภาพให้กับเกษตรกร”
คุณลิสา เอ. บูเจนนาส ร่วมพูดคุยกับเกษตรกร
เมื่อเดินทางไปถึงแปลงปลูก..ที่นั่นมีเกษตรกรในชุมชนที่ล้วนปลูกมันฝรั่งหลังมารวมตัวกันหลายสิบคน เมื่อเดินเข้าไปใกล้เราพบว่าผู้บริหารของเป๊ปซี่โคกำลังถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมไปถึงเรื่องที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อย่างเรื่องการสวมรองเท้าบู๊ท หรือความปลอดภัยในการทำงานก็บรรยายกันหมดจด
และเป็นที่น่ายินดีว่า คุณลิสา เอ. บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำเชียงใหม่ ได้มาร่วมพูดคุยกับเกษตรกรในครั้งนี้ถึงความมุ่งมั่นของเป๊ปซี่โคและประเทศสหรัฐที่เป็นมิตรกับประเทศไทย
การปลูกมันฝรั่งแปลงต้นแบบ
ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมตามจุดต่างๆ ว่าแปลงปลูกมันฝรั่งต้นแบบแห่งนี้มีอะไรให้ดูชมบ้าง นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายเกษตรประเทศไทย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้บรรยายเรื่องภาพรวมของการเพาะปลูกมันฝรั่งที่เป๊ปซี่โคให้การสนับสนุน และส่งเสริมการปลูกอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกไปจนการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการรับซื้อ (ชมเพิ่มเติมได้จากเกษตรก้าวไกลLIVE https://fb.watch/iNeuqLHwML/)
การปรับปรุงดิน
การใช้ระบบน้ำหยด
ต่อจากนั้น นายธนกฤต ศรีวิชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิตการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ได้บรรยายให้ความรู้เรื่อง การปรับปรุงดินหรือการเตรียมดินก่อนเพาะปลูก การตรวจวิเคราะห์คุณภาพของดิน การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ตามด้วยเรื่องการใช้ระบบน้ำหยด (Drip Irrigation system) ที่เป็นหัวใจของการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมันฝรั่ง
การประหยัดพลังงาน
หัวใจของการเกษตรสมัยใหม่อีกอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องการประหยัดพลังงาน โดยที่แปลงปลูกมันฝรั่งแห่งนี้ใช้ระบบไปฟ้าจาก โซล่าเซลส์ ซึ่งถือว่าลดต้นทุนจากการใช้เครื่องสูบน้ำที่ใช้พลังงานน้ำมันได้มาก
การใช้โดรนบินขึ้นไปสำรวจความเป็นไปได้ในการเกิดโรคพืช
เรื่องสำคัญที่เป็นไฮไลท์และถือว่าน่าจะยังเป็นเรื่องใหม่ของภาคการเกษตรบ้านเรานั่นก็คือ การใช้โดรนบินขึ้นไปสำรวจความเป็นไปได้ในการเกิดโรคพืช โดยนายมนตรี ศรีหะวงษ์ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด บอกว่า จะมีแอปอ่านค่าจากเฉดสีต่างๆ ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ทางเป๊ปซี่โคนำมาใช้ในแปลงปลูกมันฝรั่งของเกษตรกรและอนาคตจะทำให้การปลูกมันฝรั่งเป็นเกษตรอัจฉริยะเต็มรูปแบบ
จาก 1.5 ตันต่อไร่ เป็น 4 ตันต่อไร่
บทสรุปที่ได้จากการเดินหน้าพัฒนาร่วมกับเกษตรกรในครั้งนี้ คือ “เทคโนโลยีเหล่านี้ที่เป๊ปซี่โคนำมาใช้งาน ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้จาก 1.5 ตันต่อไร่ เป็น 4 ตันต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนทางการผลิตได้ รวมถึงสามารถลดน้ำที่เหลือทิ้งสูญเปล่าได้เช่นเดียวกัน” นายอานนท์ สุนทรนนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายเกษตรประเทศไทย บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด สรุปปิดท้าย และย้ำว่าจะขยายผลของการจัดการแปลงปลูกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปยังเกษตรกรในเครือข่ายต่อไป
นายยุทธนา วรรณรัตน์
ทางด้าน นายยุทธนา วรรณรัตน์ เกษตรกรเจ้าของแปลงปลูกมันฝรั่ง กล่าวกับ “เกษตรก้าวไกล” ก่อนที่รถของคณะสื่อมวลชนจะออกเดินทาง ว่า รู้สึกภาคภูมิใจและดีใจที่แปลงปลูกมันฝรั่งของตนได้รับการสนับสนุนเป็นแปลงต้นแบบ “ปีนี้นะรวยแน่ เพราะใช้ระบบน้ำหยด (ชี้ให้ดูอีกแปลงที่ยังใช้ระบบน้ำแบบเดิมที่อยู่ใกล้ๆกัน และขณะเดียวกันก็พาไปตะกุยดินดูหัวมันฝรั่งในแปลงที่ใช้ระบบน้ำหยดที่ใกล้เก็บเกี่ยวแล้ว) ปลูกได้ 2 เดือนแล้ว ยังไม่ลงหัวนะ ถ้าลงหัวดีจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง จะได้น้ำหนักหัวละ 8-9 ขีด/หัว พอใจในราคาประกันที่บริษัทให้ เดิมนั้นปลูกถั่วลิสงหลังนาแต่ไม่ได้ราคา ลองผิดลองถูกมาเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่จะลงตัวกับการปลูกมันฝรั่งในวันนี้”
ทั้งหมดนี้ คือ เนื้อหาสาระที่เก็บมาได้ในเวลาที่จำกัด ซึ่งอาจจะไม่ครบถ้วนกระบวนความนัก ทางเกษตรก้าวไกล จึงขอเบอร์โทร.มาฝากเพื่อนเกษตรกรที่อยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.ไปที่เบอร์ 0890162536 “สนใจปลูกมันฝรั่งต้องศึกษา..หมั่นสังเกต” คือข้อคิดปิดท้ายจากเกษตรกรยุทธนา ครับ