นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิต มันฝรั่ง ปี 2566 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 40,732 ไร่ (แยกเป็นมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน 39,291 ไร่ และพันธุ์บริโภค 1,441 ไร่) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 40,365 ไร่ (เพิ่มขึ้น 367 ไร่ หรือ ร้อยละ 0.91) ปริมาณผลผลิตทั้งปี 120,263 ตัน (แยกเป็นมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน 115,567 ไร่ และพันธุ์บริโภค 1,441 ไร่) โดยผลผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่จำนวน 110,860 ตัน (เพิ่มขึ้น 9,403 ตัน หรือ ร้อยละ 8.48)
ปัจจุบันแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่งรุ่นฤดูแล้ง และเก็บเกี่ยว มากในเดือนมีนาคม ถึง เมษายน ประมาณร้อยละ 80 ขณะที่การจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาในด้านคุณภาพ (ราคาประกัน ฤดูฝน 14.00 บาท/กก. และฤดูแล้ง 11.80 บาท/กก.) ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 – 14 บาท/กก. โดยราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
หากมองด้านการตลาด ภาคเอกชน ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง ในปีที่ผ่านมา มีความต้องการใช้ 185,00 ตัน ซึ่งผลิตได้ในประเทศ 111,000 ตัน (ร้อยละ 60) และนำเข้า 75,000 ตัน (ร้อยละ 40) โดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะขยายทุกปี ๆ ละอย่างน้อย 10% ทั้งนี้ ในปี 2570 คาดว่าจะมีความต้องการมันฝรั่งเพื่อแปรรูป เพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออกถึงประมาณ 280,000 ตัน
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีการผลักดันการบริหารจัดการการผลิตมันฝรั่งครบวงจร โดยใช้แนวทางการตลาดนำการผลิต ซึ่งจะเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ในด้านของการขยายพื้นที่เพาะปลูก และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ลดต้นทุนหลักจากค่าปุ๋ยและค่าหัวพันธุ์) ล่าสุดจากการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ซึ่งมี นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าทีมคณะทำงานแนวทางการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศ เป็นประธาน ได้ร่วมกำหนดกิจกรรม/แผนงาน/โครงการ และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกันผลักดัน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
โครงการ 1 การศึกษาลดต้นทุนปุ๋ยเคมี (ลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี) เป็นการจัดทำแปลงทดลอง เพื่อศึกษา วิจัย เปรียบเทียบการปลูกมันฝรั่งระบบน้ำหยด ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ลดการใส่ปุ๋ยเคมี กับการเพาะปลูกปกติ โดยมอบหมายกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน คัดเลือกพื้นที่ในจังหวัดตาก และทำการทดลองปลูกในช่วงฤดูฝน ของปี 2566
โครงการที่ 2 การวิจัยพันธุ์มันฝรั่ง (ลดต้นทุนค่าหัวพันธุ์) เพื่อผลักดันการใช้หัวพันธุ์ในประเทศเพิ่มขึ้น ลดการนำเข้า หัวพันธุ์จากต่างประเทศที่มีราคาสูง และเสี่ยงต่อโรคระบาดของพืชติดมาด้วย และกระจายหัวพันธุ์มันฝรั่งให้เกษตรกร โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร เพิ่มการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งในประเทศ โดยนำร่องในจังหวัดตาก
โครงการที่ 3 การขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด ที่จะเพิ่มขึ้นถึง 280,000 ตัน/ปี ในปี 2570 โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่เพาะปลูก 30,000 ไร่ เฉลี่ยปีละ 10,000 ไร่ ใน 9 จังหวัด ในภาคเหนือ 7 จังหวัดและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก สกลนคร และนครพนม โดยมอบหมายให้สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ ประสานสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สถานีพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจความต้องการปลูก และขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งของเกษตรกรในจังหวัดเป้าหมาย โดยให้มีการเพาะปลูก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567
โครงการที่ 4 ยกร่างการเกษตรพันธสัญญาด้านมันฝรั่ง เพื่อส่งเสริมการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตมันฝรั่งระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกกับบริษัทผู้ผลิตและภาคเอกชน ให้ครอบคลุมและได้ราคาเป็นธรรม โดยมอบหมายสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ดำเนินการยกร่างและประสานหารือแนวทางการจัดทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งปีละ 10,000 ไร่ มีประสิทธิภาพเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ และสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน ด้านโครงการสร้างดิน ปุ๋ย ระบบน้ำสำหรับการเพาะปลูกมันฝรั่ง กรมส่งเสริมการเกษตร ด้านการส่งเสริมการผลิต และการแก้ไขปัญหาการเกิดโรคในมันฝรั่ง กรมวิชาการเกษตร ด้านการวิจัยพันธุ์มันฝรั่ง และการพัฒนาปุ๋ยคุณภาพสูง กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ด้านการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และการจัดทำบัญชี พร้อมทั้งสำรวจจำนวนห้องเย็นที่มีอยู่ในพื้นที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ด้านสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ศึกษา ทดลอง การปลูกมันฝรั่ง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ด้านการติดตามประเมินสถานการณ์การผลิต การตลาด ต้นทุนและความคุ้มค่าของการปลูกมันฝรั่ง เป็นต้น