นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมงานกิจกรรมปลูกข้าวจากงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2566 โดยมีนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้แทนจากภาคส่วนราชการฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลีย เข้าร่วม
ณ สถานเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยินดีและเป็นเกียรติ ที่ ดร. แองเจลล่า แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ให้ความสำคัญกับข้าวจาก พระราชพิธีที่สำคัญของประเทศไทย และนำมาปลูกที่สถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ รวมถึงเชิญผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมงานปลูกข้าวในวันนี้ ซึ่งประเทศไทยและออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนานมากกว่า 70 ปี และหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าการค้าและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน รวมถึงประเด็นการจัดการกับโรคระบาดต่าง ๆ ทั้งในพืชและสัตว์ โดยเน้นย้ำว่า ประเทศไทยใส่ใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าว่า สินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าในการเจรจาการเปิดตลาดเป็ดปรุงสุกจากไทยไปออสเตรเลีย และอะโวคาโดสดจากออสเตรเลียมาไทย เจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายไทยและออสเตรเลียได้ร่วมมือประสานการทำงานระหว่างกัน ทำให้กระบวนการด้านเทคนิคเพื่อจัดทำเงื่อนไขการนำเข้าของทั้งสองสินค้าได้สำเร็จเรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งออกเป็ดปรุงสุกของไทยไปออสเตรเลียได้ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ได้หารือการเพิ่มโอกาสและปริมาณการค้าสินค้าเกษตรกับเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียเพิ่มเติม ได้แก่ ทุเรียนแกะเนื้อแช่เย็นและทุเรียนแช่เยือกแข็งจากไทย
เนื่องจากมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และอาหารจากพืช (Plant Based Food) กำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคออสเตรเลียมากเช่นกัน และในช่วงปลายปี 2566 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร (SPS Expert Group) ครั้งที่ 19 และการประชุมคณะทำงานร่วมด้านวิชาการเกษตร ไทย-ออสเตรเลีย (Joint Working Group on Agriculture: JWGA) ครั้งที่ 23 ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำ
ทุกปี คาดว่าจะมีความร่วมมือใหม่ ๆ ประเด็นความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัว
ทางการเกษตร รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ของทั้งสองประเทศในการร่วมหารือครั้งนี้ด้วย