กรมชลประทาน

วันนี้ (3ก.ย.66) ณ ห้องประชุมจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายไพฑูรย์ ศรีมุก รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 นายฉัตรชัย ทองปอนด์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการรับมือเอลนีโญ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมกับ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(2ก.ย.66) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 10,126 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การรวมกัน 3,430 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนไปแล้ว 5,644 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันไม่มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง ที่สำคัญได้ปฏิบัติตาม 12 มาตราการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรารับมือฤดูฝนปี 66 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ได้แก่ 1. จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนในการเพาะปลูก บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต พิจารณาปรับลดการระบายโดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศ เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ 2. ควบคุมการเพาะปลูก ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดทำนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายและให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ บูรณาการร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในการวางแผนจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกพื้นที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ร่วมใจกันประหยัดน้ำ รวมทั้งเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ อาทิ แก้มลิง บ่อน้ำ ตลอดจนอาคารชลประทานที่ถ่ายโอนแล้ว ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated