เรื่องโดย : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา
ชุมชนบ้านสนวนนอก ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.สนวนนอก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ที่นี่เป็นชุมชนคนทอผ้าแบบฉบับของชาวอีสานใต้ ทีมงานเกษตรก้าวไกลมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิต ซึ่งอยู่กันอย่างเรียบง่าย อัธยาศัยของคนที่นี่มีเสน่ห์น่าประทับใจ ใช้ภาษาพื้นถิ่นเขมรและภาษาอีสาน สืบสานอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ทำนา เลี้ยงปศุสัตว์
นอกจากนี้ยังมีอาชีพเสริมในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า สร้างรายได้ให้กับชุมชน จนกลายเป็นอาชีพหลักในวันนี้
คุณสำเริง โกติรัมย์ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านสนวนนอก และคุณพงษ์ศรี แก้วพรม รองประธานกลุ่มทอผ้าไหมบ้านสนวนนอก 2 หญิงแกร่งพาทีมงานเกษตรก้าวไกล เข้าเยี่ยมชมศูนย์ท่องเที่ยวและศูนย์ผลิตผ้าไหมของชุมชนบ้านสนวนนอก
คุณสำเริง เล่าว่า เริ่มต้นของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านสนวนนอก ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ที่ให้การสนับสนุนเครื่องกรอ เครื่องกี่ เครื่องม้วน เครื่องเดินเส้น ต่อมาก็มีการอบรมเกี่ยวกับใช้เครื่องมือในการกรอ การกี่ เพื่อให้การทอผ้าได้เร็วขึ้น เราจึงใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามา มากกว่าการใช้มือเหมือนเก่า
คุณสำเริง กล่าวต่อไปว่า เมื่อปีพ.ศ 2556 จึงเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน จนเมื่อปี พ.ศ 2558 เริ่มมีคนเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ทางกลุ่มจึงได้เข้าไปขอสินเชื่อสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 3 แสนบาท ต่อมาก็เพิ่มสินเชื่อเป็น 5 แสน และ 1 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซื้อวัตถุดิบให้สมาชิกนำไปทอผ้า ขายให้นักท่องเที่ยว
“เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะเราจึงกระจายการทอผ้าให้กับสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตีเกลียว การขึ้นรูปลวดลายใหม่ๆ เพื่อมาพัฒนาเป็นสินค้าที่น่าสนใจให้กับชุมชน”
รถจรวด
“นอกจากนี้เรามีรถจรวดพานักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชนมีมัคคุเทศก์ชุมชนนำดูทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การปลูกชำต้นหม่อน การให้อาหารตัวไหม การเก็บไหม การสาวไหมจากดักแด้ การฟอกกาวไหมออกจากดักแด้ การเตรียมเส้นไหมเพื่อมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติ ไปจนถึงการทอผ้าไหม” คุณสำเริง กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ประธานกลุ่มทอผ้าไหมสนวนนอก กล่าวอีกว่า “ความมุ่งมั่นของกลุ่มคือเราต้องการผลิตผ้าไหมเสร็จแล้วมีตลาดรองรับ และได้เงินทันที ซึ่งการผลิตของเรานั้นไม่มีปัญหาเรามีกำลังการผลิตได้สูงอยู่แล้ว นอกจากนี้เราต้องการให้สินค้าของเราส่งออกไปขายในต่างประเทศเหมือนญี่ปุ่น หน่วยงานไหนที่ต้องการให้เราผลิตสินค้าสามารถสั่งมาได้เลย ว่าจะต้องการลายแบบไหนเราทำให้ได้หมด สั่งมาเป็นพันผืนใช้เวลา 1 เดือนเราก็ผลิตให้ได้ ที่นี่เครื่องมือพร้อมคนพร้อมค่ะ”
ป้าสมพงศ์ วงศ์สุวรรณ
ด้าน ป้าสมพงศ์ วงศ์สุวรรณ ช่างทอผ้ามือหนึ่ง กล่าวว่าตนทอผ้ามาแล้วเป็นหมื่น ๆ ผืน ปัจจุบันสมาชิกเข้ามาทอผ้าที่ศูนย์ประมาณ 30 คน หลังฤดูเกี่ยวข้าวเครื่องทอผ้าที่นี่ไม่ว่างเลย นอกจากนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการทอผ้า เริ่มเข้ามาเรียนรู้และหัดทอผ้า ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีของคนรุ่นใหม่ ที่จะสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษ
สุดท้ายประธานกลุ่มยังชักชวนลุงพรไปชมผ้าไหมซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหมื่นบาท ประธานหยิบผ้าลายหางกระรอกโบราณ ออกมาโชว์ ซึ่งเป็นลายอัตลักษณ์ของชุมชนสนวนนอก และผ้าไหมหางกระรอกตีนแดง เป็นผ้าเอกลักษณ์ของบุรีรัมย์ เป็นผ้าชาติพันธุ์เขมรกับลาว ราคาสูงเป็นที่นิยมของตลาด
นอกจากผ้าไหมอันเลื่องชื่อแล้ว ชุมชนบ้านสนวนนอก ยังมีเมนูอาหารรสอร่อยๆ ไว้ให้รับประทาน เช่น ขนมตดหมา ในวันที่พวกเราเดินทางไปยังได้เหมามาลิ้มรสอีกด้วยครับ