พร้อมดันธุรกิจบริการเครื่องจักรกลเกษตร เสริม GDP สาขาบริการทางการเกษตรไทย

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ของรัฐบาลซึ่งจะยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดการขับเคลื่อนผ่านกลไกสำคัญ คือ 1) การยกระดับสินค้าเกษตรสู่การเพิ่มรายได้ และ 2) การเสริมแกร่งให้กับเกษตรกรและคนในภาคเกษตร ซึ่ง “การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตร” เป็นหนึ่งในหลายแนวทางย่อยที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ จากการที่สาขาบริการทางการเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 3 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาเกษตรกรรม โดยในปี 2566 สาขาบริการทางการเกษตรมีมูลค่าประมาณ 46,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีแนวโน้มการขยายตัวร้อยละ 0.3 – 1.3 สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มของปริมาณการใช้บริการทางการเกษตรผ่านเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเหตุปัจจัยข้อจำกัดด้านแรงงานและเวลา อีกทั้งการลงทุนซื้อเครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ของเกษตรกรรายย่อยจะมีจุดคุ้มทุนที่ใช้ระยะเวลายาวนานและมีความเสี่ยงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ตลอดจนรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปันทรัพยากร (Sharing Economy) ได้รับการตอบสนองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสูงสุดทั้งปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า ซึ่งสาขาบริการทางการเกษตรมีความหลากหลาย เช่น บริการเตรียมพื้นที่และปรับปรุงดิน (ไถพรวน) บริการปลูกพืช บริการเก็บเกี่ยวผลผลิต บริการกำจัดวัชพืช บริการฉีดพ่นสารเคมี ชีวภัณฑ์ทางการเกษตร และบริการตัดแต่งทรงพุ่มพืชต่าง ๆ โดยปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ให้บริการมากขึ้น อาทิ บริการโดรนเพื่อการจัดการแปลงเกษตร บริการโดรนเพื่อถ่ายภาพสำรวจแปลงและเชื่อมต่อกับภาพถ่ายดาวเทียม สำหรับการวิเคราะห์สภาพของที่ดิน และสภาพการเจริญเติบโตของพืช  ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำและประหยัดต้นทุนทางการเงินและต้นทุนด้านเวลา ให้แก่เกษตรกรมากกว่าเดิม กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้นำระบบบริหารจัดการใช้เครื่องจักรกลเกษตรร่วมกันแบบเครือข่ายของต่างประเทศ (Agricultural Machinery Ring, AMR) ที่ประสบผลสำเร็จอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศในแถบเอเชียบางประเทศ มาพัฒนาประยุกต์ใช้กับบริบทของประเทศไทย ในรูปแบบการสร้างความร่วมมือให้มีการนำเครื่องจักรกลเกษตรที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการให้มีการใช้งานร่วมกัน จะส่งผลให้การใช้งานเครื่องจักรกลเกษตรที่มีใช้งานอยู่แล้วในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีการใช้งานทรัพยากรเครื่องจักรและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพตลอดทั้งปี เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน มีระยะเวลาการคืนทุนสั้นและเพิ่มโอกาสในการลงทุนเพิ่ม เพื่อจัดหาเครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุนให้เกษตรกรมีใช้งานครบทุกกิจกรรมการผลิต ช่วยสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ทั้งนี้ รูปแบบการใช้ทรัพยากรร่วมกันในลักษณะดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จด้วยดีแล้วระดับหนึ่ง และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันของชุมชนควบคู่กันไปด้วย โดยในปี 2567 มุ่งเป้าพัฒนา “เครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันของชุมชน” ให้เกิดระบบ Sharing Economy ในท้องถิ่น เกษตรกรเข้าถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยไม่ต้องลงทุนซื้อด้วยตนเอง ลดภาระการลงทุนซ้ำซ้อนและชั่วโมงการทำงานต่ำของเครื่องจักรกลการเกษตร และพัฒนาเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือเกษตรกร Young Smart Farmer หรือ Smart Farmer หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือเกษตรกรที่มีความสนใจร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลการเกษตรในเขตพื้นที่ทำการผลิตพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาให้เกษตรกรยอมรับและจัดรูปที่ดิน/จัดรูปแบบผังแปลง การวางแผนเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพของการใช้เครื่องจักรกล เพื่อบริหารอุปสงค์ อุปทานให้สมดุลมากที่สุด โดยมีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมได้แก่ “เครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตำบลหินซ้อน”

ด้าน นายกิตติศักดิ์ เมฆา ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิก 54 ราย พื้นที่ปลูกข้าวโพด 2,580 ไร่ ซึ่งได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร มีการให้บริการรถเก็บเกี่ยวผลผลิต รถบรรทุกผลผลิต บริการอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มีอัตราค่าบริการจำแนกตามสมาชิกและบุคคลภายนอก มีการอบรมถ่ายทอดความรู้เทคนิคการใช้และการซ่อมบำรุงดูแลเครื่องจักรกลให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการเครื่องจักร/การบริหารความเสี่ยงเพื่อให้ผู้ใช้บริการพึงพอใจ การสำรวจเครื่องจักรการเกษตรของสมาชิกและการลงทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาปรับใช้ อาทิ การใช้ Application Farm Gear การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรให้เหมาะสมตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practices : GAP) การจัดทำปฏิทินการเพาะปลูกของชุมชน การคำนวณต้นทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์และกิจกรรมชี้แจงการสำรวจแปลงเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลพืชที่ปลูก ผลผลิตต่อไร่ และขนาดพื้นที่ของสมาชิกกลุ่ม มีการจัดเวทีชุมชนถอดบทเรียน แนวทางแก้ไขปัญหา และวางแผนฤดูกาลถัดไป เกิดเป็นเครือข่ายบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันของชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated