กรุงเทพฯ 23 สิงหาคม 2567 – กรมการข้าว หนุนศักยภาพข้าวไทยด้วยการส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง โชว์ตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ข้าวจาก 5 วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง – ตรัง ที่ใช้การปลูกข้าว GI และข้าวท้องถิ่น ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง จังหวัดพัทลุง กับการต่อยอดข้าวสังข์หยดสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ Makeup Remover โจ๊กข้าวสังข์หยด และขนมขบเคี้ยวที่ทำจากข้าวสังข์หยด วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านนาท่อมร่วมใจ จังหวัดพัทลุง แป้งพิซซ่าจากข้าวสังข์หยด วิสาหกิจชุมชนนาข้าวแปลงใหญ่ ตำบลนาพละ จังหวัดตรัง ข้าวคุณภาพดีแพ็คสุญญากาศ วิสาหกิจลาซานสามัคคีคนทำนาโคกสะบ้า จังหวัดตรัง และวิสาหกิจชุมชนชาวนา ตำบลวังคีรี จังหวัดตรังชุมชนผู้พัฒนาและต่อยอดอัตลักษณ์ข้าวเบายอดม่วงสู่เครื่องดื่มกาแฟ พร้อมเผยศักยภาพภาคใต้กับโอกาสในการปลูกข้าวท้องถิ่นที่เป็นข้าวเจ้าถึง 182 สายพันธุ์ และข้าวเหนียว 14 สายพันธุ์ ซึ่งในปัจจุบันมีข้าวที่ได้รับการยกระดับให้เป็นสินค้า GI ได้แก่ ข้าวสังข์หยด ข้าวเบายอดม่วงตรัง ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส และข้าวไร่ดอกข่า
นางจรัญจิต เพ็งรัตน์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว เปิดเผยว่า การสร้างความแข็งแกร่งให้กับ “พันธุ์ข้าวพื้นเมือง” เป็นแนวทางที่จำเป็นต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งเป็น การส่งเสริมให้แต่ละชุมชนใช้ความได้เปรียบทางทรัพยากรข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่หลากหลาย มาต่อยอดรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ ร่วมกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชน ช่วยลดอุปสรรคการแข่งขันบนช่องทางการขายที่มีอยู่ในตลาด และสามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเมื่อเทียบกับการปลูกพันธุ์ข้าวทั่วไป นอกจากนี้ การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองยังทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบน้อยในช่วงที่สถานการณ์การค้าขายข้าวมีความผันผวน ทั้งยังสามารถช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองกับผู้กำหนดราคาในท้องตลาดได้อีกด้วย
ข้าวสังข์หยดกล้อง ข้าวเปลือกข้าวสังข์หยด
“ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่ยกระดับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้อย่างมีศักยภาพ และมีพันธุ์ข้าวที่สามารถสร้างมูลค่าหลายสายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนำการผลิต การตลาด และใช้สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีชนิดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เป็นข้าวเจ้าถึง 182 สายพันธุ์ และข้าวเหนียว 14 สายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ได้การรับรองให้เป็นสินค้า GI และนิยมปลูกสูงได้แก่ ข้าวสังข์หยด ข้าวเบายอดม่วงตรัง ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส และข้าวไร่ดอกข่า โดยแหล่งปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก ถึง 507,768 ไร่ มีอำเภอที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญคือ อำเภอเมืองพัทลุง และอำเภอควนขนุน โดยเป็น 2 อำเภอที่มี การเพาะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองของภูมิภาคอีกด้วย”
นางจรัญจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ภาคใต้พบว่าวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นอย่างสูง คือ 1. วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง จังหวัดพัทลุง 2. วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านนาท่อมร่วมใจ จังหวัดพัทลุง ซึ่งมีความโดดเด่นในการปลูกข้าวสังข์หยด จากปัจจัย ทางภูมิศาสตร์เมืองลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลา จึงมีความอุดมสมบูณ์ด้วยการทับถมของตะกอนลำน้ำ ส่งผลให้เกษตรกร ในพื้นที่ทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก โดยข้าวพันธุ์ดังกล่าวผ่านระบบจัดการคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฎิบัติ ทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (GAP : Good Agricultural Practice of Rice Production) ควบคู่กับความเป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
นางจรัญจิต เพ็งรัตน์
3. วิสาหกิจชุมชนนาข้าวแปลงใหญ่ ตำบลนาพละ จังหวัดตรัง 4. วิสาหกิจลาซานสามัคคีคนทำนาโคกสะบ้า จังหวัดตรัง และ 5. วิสาหกิจชุมชนชาวนาตำบลวังคีรี จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเล็บนก ข้าวนางปิด ข้าวเบายอดม่วง ข้าว กข55 ข้าวเข็มเพชร และข้าวเข็มทอง โดยเฉพาะข้าวเบายอดม่วงซึ่งเป็นข้าวเจ้าบริสุทธิ์พันธุ์พื้นเมืองที่ได้รับการรับรองสินค้า GI ประจำจังหวัดตรัง ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านคุณค่าทางอาหาร เช่น ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง คุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเหมาะสำหรับการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ
นางจรัญจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการข้าวได้ให้การสนับสนุน 5 วิสาหกิจชุมชนผ่านแนวทางต่าง ๆ อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง จังหวัดพัทลุง ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวและการตรวจคุณภาพข้าว GI วิสาหกิจชุมชนลาซานสามัคคีคนทำนาโคกสะบ้า จังหวัดตรัง และวิสาหกิจชุมชนชาวนาตำบลวังคีรี จังหวัดตรัง ได้รับการสนับสนุนการตรวจคุณภาพข้าว GI ส่วนวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านนาท่อมร่วมใจ จังหวัดพัทลุง ได้รับการสนับสนุนด้านมาตรฐานการบรรจุภัณฑ์ วิสาหกิจชุมชนนาข้าวแปลงใหญ่ ตำบลนาพละ จังหวัดตรัง ได้รับการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว นอกจากนี้ยังช่วยจัดหาช่องทางในการจัดจำหน่ายที่หลากหลายให้ตรงกับความต้องการตลาดและผู้บริโภค
กาแฟข้าวเบายอดม่วง ขนมจีนอบแห้งจากข้าวเบายอดม่วง
นายวิสุทธิ์ วิบูลย์พันธุ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนชาวนาพัทลุง ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 18 คน 18 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 970 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เกษตรกรทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือ เดือนกันยายน – มกราคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมา มีผลผลิตรวม 388 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 27,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวสังข์หยด (GI) วิสาหกิจยังมีความพร้อมในการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคด้วยกำลังการผลิตที่สูง ผ่านผลิตภัณฑ์ข้าวที่ออกสู่ตลาดภายใต้ “แบรนด์วิบูลย์พันธุ์”ซึ่งแบรนด์นี้มุ่งใช้กลยุทธ์ที่สำคัญทั้งความเป็นข้าวพรีเมียม ความเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตจากแหล่งเพาะปลูกคุณภาพ ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมี
หมุนแป้งลงกระทะ
ในส่วนของการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าข้าวในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งต่อไปถึงผู้บริโภค ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง ข้าวสุญญากาศ แชมพู สบู่เหลว สบู่ก้อน โจ๊กข้าวสังข์หยด (รสผัก และรสเห็ด) และขนมขบเคี้ยว ที่ทำจากข้าวสังข์หยด (รสธรรมชาติ) อีกทั้งยังได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวให้ก้าวสู่สินค้าโมเดิร์นเทรดสำหรับผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อนำไปจัดจำหน่าย อาทิ เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่ และในอนาคตที่ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (แม็คโคร) พร้อมเดินหน้ายกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่ครบวงจรการจัดจำหน่าย ผ่านออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น
โจ๊กข้าวเบายอดม่วง สแน็กบาร์
นางสาวโชติกา ทองขุนคำ ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านนาท่อมร่วมใจ จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่ากรมการข้าว ได้ส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีมูลค่าสูงด้วยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในเพิ่มมูลค่าให้ข้าวที่หลากหลายให้ตรงใจผู้บริโภค โดยการใช้ข้าวสังข์หยด (GI) ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของภาคใต้ โดยวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านนาท่อมร่วมใจ ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 10 คน 10 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 37 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น ผ่านระบบจัดการคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตรการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (GAP : Good Agricultural Practice of Rice Production) ข้าวควบคู่ระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เกษตรกรทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือ เดือน กันยายน – มกราคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 14.8 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 27,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวสังข์หยด (GI)
ต้มแป้งขนมจีน
นอกจากนี้ความโดดเด่นของวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านนาท่อมร่วมใจคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ข้าวสังข์หยด (GI) ใช้ในการต่อยอดเป็นอาหารอิตาเลียนที่ส่งความสุขในรูปแบบของแป้งการทำพิซซ่า ซึ่งเป็นแนวคิดในการต่อยอดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำชุมชน ที่ใช้ความโดดเด่นของข้าวสังข์หยดให้มีกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์ของข้าวคล้ายใบเตยที่ทำให้ผู้รับประทานได้ความอร่อย พร้อมกับสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นสินค้าพรีเมียมเพื่อส่งต่อไปถึงผู้บริโภค ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง ข้าวสุญญากาศ และข้าวเกรียบข้าวสังข์หยด อีกทั้งยังได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวให้ก้าวสู่ตลาดสินค้าเพื่อนำไปจัดจำหน่าย อาทิ ศูนย์ OTOP พัทลุง และผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเข้าถึงสินค้าให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
นายเธียรชัย โออินทร์ ประธานวิสาหกิจลาซานสามัคคีคนทำนาโคกสะบ้า ตำบลโคกสะบ้า จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ชุมชนได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากกรมการข้าวในการต่อยอดข้าวให้มีคุณภาพที่มีราคาสูง ซึ่งมีการปลูกข้าวพื้นเมือง 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวเล็บนก ข้าวเข็มเพชร ข้าวเข็มทอง และข้าวเบายอดม่วง (GI) โดยวิสาหกิจ ลาซานสามัคคีคนทำนาโคกสะบ้า ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 110 คน 110 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 600 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น ทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน สิงหาคม – มกราคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 240 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 19,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวเบายอดม่วง (GI) วิสาหกิจยังมีความพร้อมในการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคด้วยกำลังการผลิตที่สูง ผ่านผลิตภัณฑ์ข้าวที่ออกสู่ตลาด ความเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตจากแหล่งเพาะปลูกคุณภาพ
นอกจากนี้ วิสาหกิจฯยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าให้ข้าวด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง ข้าวสุญญากาศ ข้าวแต๋นธัญพืช แป้งขนมจีน และน้ำนมข้าวเบายอดม่วง อีกทั้งยังได้ผลักดันผลิตภัณฑ์ข้าวให้ก้าวสู่ตลาดสินค้า เพื่อนำไปจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์
ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น
นางกุหลาบ หนูเริก
นางกุหลาบ หนูเริก ประธานวิสาหกิจชุมชนนาข้าวแปลงใหญ่ ตำบลนาพละ จังหวัดตรัง เปิดเผยว่าชุมชนมุ่งเน้นการปลูกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวด้วยการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกร โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต พร้อมนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอนเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับพื้นที่ชุมชนนาพละ ซึ่งผลิตภัณฑ์ข้าวเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค มีข้าวพื้นเมือง 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวเล็บนก ข้าวนางปิด ข้าวเบายอดม่วง และข้าว กข55 ด้วยเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี และ แหล่งเพาะปลูกที่สร้างผลิตภัณฑ์ข้าวได้มีคุณภาพที่หลายสายพันธุ์ ช่วยพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกษตรกร
มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
“วิสาหกิจชุมชนนาข้าวแปลงใหญ่ ตำบลนาพละ ประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 56 คน 56 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 898 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็น เกษตรกรทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน สิงหาคม – มกราคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 360 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ ตันละ 19,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวเบายอดม่วง (GI) วิสาหกิจยังมีความพร้อมในการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคด้วยกำลังการผลิตที่สูง โดยใช้กลยุทธ์ที่สำคัญทั้งเรื่องคุณภาพที่สูงกว่าตลาด ความเป็นสินค้าอินทรีย์ที่ผลิตจากแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีการใช้สารเคมี พร้อมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่าย อาทิ ข้าวบรรจุถุง ข้าวสุญญากาศ ขนมคุ้กกี้ เค้ก และสแน็กบาร์ อีกทั้งยังได้นำไปจัดจำหน่าย อาทิ ศูนย์ OTOP ตรัง สิริบรรณ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรเมืองตรัง และยกระดับผลิตภัณฑ์ข้าวในการจัดจำหน่ายผ่านออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายเพิ่มมากขึ้น
นางสาวกมลศรี พลบุญ
นางสาวกมลศรี พลบุญ ประธานวิสาหกิจชุมชนชาวนา ตำบลวังคีรี จังหวัดตรัง เปิดเผยว่ากรมการข้าวได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ข้าวให้มีมูลค่าเพิ่มส่งต่อผู้บริโภคด้ายการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากการปลูกข้าวพื้นถิ่นของชุมชนวังคีรี โดยมีข้าวพื้นเมือง 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวเล็บนก ข้าวเข็มทอง และ ข้าวเบายอดม่วง โดยวิสาหกิจชุมชนชาวนา ตำบลวังคีรีประกอบไปด้วยชาวบ้านในพื้นที่รวม 25 คน 25 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวรวม 130 ไร่ เกษตรกรจะทำการปลูกข้าวด้วยกรรมวิธีอินทรีย์ผสานกับการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทำนาปีละ 1 ครั้ง มีฤดูกาลเพาะปลูกคือเดือน กันยายน – ธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มกราคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 400 กิโลกรัม/ไร่ โดยปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 52 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 19,000 บาท โดยกลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีที่สุดและสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ ข้าวเบายอดม่วง (GI)
นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นคือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ข้าวเบายอดม่วง (GI) เป็นกาแฟสำเร็จรูป ข้าวเบายอดม่วง ซึ่งเป็นแนวคิดในการต่อยอดความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำชุมชนที่ใช้ความโดดเด่นของข้าวเบายอดม่วง ที่มากด้วยสรรพคุณจากสารต้านอนุมูลอิสระและสารฟิโนลิคสูง มีประโยชน์ต่อสุขภาพป้องกันโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวาน และยังสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง ข้าวสุญญากาศ ขนมคุ้กกี้ ทองม้วน และโรตีกรอบ