รมว.กษ. แจงผลงานปฏิรูปภาคเกษตรพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเน้นการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เพื่อชี้ความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำเกษตร และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก). เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมการพัฒนาแหล่งน้ำ และ ระบบกระจายน้ำ และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่ ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นคง และยั่งยืนในการทำการเกษตร
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยม การดำเนินงานการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ และ การพัฒนาการเกษตรสู่ความยั่งยืน ณ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชกูฎ อ.เขาคิชกูฎ จ.จันทบุรี ในวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้ และ มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต และยกมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินการในภาพรวม และ ใน จ.จันทบุรี ที่สำคัญ คือ
(1) การจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก หรือ Agri-Map เพื่อบ่งชี้ความเหมาะสมของพื้นที่ในการทำเกษตร ซึ่งในปัจจุบัน สามารถใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ที่มีอินเตอร์เน็ต และ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ได้ ซึ่งในพื้นที่ จ.จันทบุรี มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ 6 ชนิด คือ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย มันสำปะหลัง และ ยางพารา รวมพื้นที่ 1.77 ล้านไร่ พบว่าปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 12.68 ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรที่เหมาะสมโดยความสมัครใจของเกษตรกรต่อไป
(2) จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ และ ได้ขยายผลเป็น ศพก. เครือข่าย 8,892 ศูนย์ย่อย โดย จ.จันทบุรี มี 10 อำเภอ มี ศพก. 10 ศูนย์ และ ศพก. เครือข่าย 100 ศูนย์ย่อย ซึ่ง ศพก. นี้ จะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ในการทำเกษตรที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแปลงใหญ่
(3) การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีลักษณะเพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันบริหารจัดการ และ ทำการตลาด ทำให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มาราคาสูงร่วมกันได้ แบ่งแยกหน้าที่ทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน สินค้าในกลุ่มยกระดับเป็นสินค้า GAP มีคุณภาพ ความปลอดภัย ตรงความตรงการของตลาด ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรแปลงใหญ่ทั้งประเทศ 2,138 แปลง รวมพื้นที่ 3.10 ล้านไร่ เกษตรกร 224,698 ราย จำนวน 67 ชนิดสินค้า
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินผลการดำเนินการพบว่า การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยการนำของเอกชนทำให้เกษตรกร มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,241-1,565 บาท/ไร่ สำหรับแปลงใหญ่ โดยการนำของภาครัฐ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 992-1,168 บาท/ไร่ โดยรวมแล้วการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวม 4,864.94 ล้านบาท/ปี
สำหรับในจังหวัดจันทบุรี มีเกษตรแปลงใหญ่ 17 แปลง ใน 9 ชนิดสินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย ชันโรง ยางพารา กุ้งขาว โคนม และ หญ้าเนเปียร์ รวมพื้นที่ 10,581 ไร่ เกษตรกร 956 ราย โดยมีตัวอย่างเกษตรแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น แปลงใหญ่ทุเรียน ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 9.9 จาก 25,551 บาท/ไร่ เหลือ 22,996 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ได้ร้อยละ 11.0 จาก 1,461 กก./ไร่ เป็น 1,622 กก./ไร่ แปลงใหญ่มังคุด ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 7.9 จาก 8,622 บาท/ไร่ เหลือ 7,939 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ได้ร้อยละ 20.0 จาก 900 กก./ไร่ เป็น 1,080 กก./ไร่ แปลงใหญ่ลำไย ลดต้นทุน ได้ร้อยละ 9.3 จาก 15,000 บาท/ไร่ เหลือ 13,600 บาท/ไร่ เพิ่มผลผลิต ได้ร้อยละ 10.0 จาก 2,000 กก./ไร่ เป็น 2,200 กก./ไร่ ซึ่งหัวใจที่สำคัญของเกษตรแปลงใหญ่ คือ การมุ่งสู่การผลิตสินค้ามีมาตรฐาน GAP ตรงความต้องการ ทำให้สินค้าเป็นที่เชื่อมั่น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของต่างประเทศมาก
(4) การพัฒนาแหล่งน้ำ และ ระบบกระจายน้ำ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนในการทำการเกษตรในภาพรวมภาคตะวันออก ปี 2557-2559 ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และ อื่นๆ รวม 83 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 197.40 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 82,259 ไร่ ใน ปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการกระจายน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร ได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และ อื่นๆ รวม 107 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำได้ 362.61 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 72,360 ไร่ รวมระยะเวลา 3 ปี เพิ่มปริมาณน้ำได้ 560.01 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 154,619 ไร่ มากว่ารัฐบาลที่ผ่านมาถึง 6 เท่า สำหรับในภาพรวม จ.จันทบุรี ปี 2557-2559 เพิ่มปริมาณน้ำได้ 6.85 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 17,895 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำได้ 68.48 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตร 51,000 ไร่ จากการประเมินผล พบว่าเกษตรกรสวนทุเรียน จ.จันทบุรี ที่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 200,000 บาท/ไร่ เป็น 260,000 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 60,000 บาท/ไร่ สำหรับในส่วนเกษตรแปลงใหญ่ จ.จันทบุรี 17 แปลง มีแหล่งน้ำอยู่แล้ว 10 แห่ง ยังขาดแหล่งน้ำ 7 แห่ง ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้วางแผนจัดทำแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนน้ำให้แปลงใหญ่ และ พื้นที่เกษตรที่อยู่ข้างเคียง จำนวน 14 โครงการ ดำเนินการเสร็จแล้ว 1 โครงการ คือ โครงการเพิ่มความจุเก็บกักอ่างเก็บน้ำศาลทราย อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 อีก 7 โครงการ จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561
ในภาพรวม เกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออก 78 แปลง มีแหล่งน้ำแล้ว 35 แปลง ยังขาดแหล่งน้ำ 43 แปลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมงบประมาณ 300.45 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2560-2561เพื่อให้ เกษตรแปลงใหญ่ทุกแปลง จะมีความมั่นคงด้านน้ำ สามารถทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
“ผลการดำเนินการตามนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรเกิดผลเป็นรูปธรรม เพิ่มผลผลิตในภาพรวม และ เป็นที่เชื่อมั่นของตลาดส่งออก โดย GDP ภาคการเกษตร ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปี 2558 ขยายตัวร้อยละ -5.67 ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2560 ไตรมาสแรก ขยายตัวร้อยละ 7.74 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ ในรอบ 5 ปี ด้านการส่งออกภาคการเกษตรของไทยก็มีมูลค่าสูงขึ้น โดยในปี 2560 ช่วง 4 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออกสินค้าการเกษตร 433,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เนื้อไก่ อาหารทะเล และ ผลไม้ โดยในระยะต่อไปจะขยายผลเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน เพื่อยกระดับพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น มีเกียรติ ความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร” รมว.กษ. กล่าว