รมว.เกษตร มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2568 เน้นการทำงานเชิงรุก บูรณาการ ร่วมมือ และมีส่วนร่วม

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้กับบุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรในการสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตรครบรอบ 57 ปี ในวันที่ 21 ตุลาคม 2567 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า..

กรมส่งเสริมการเกษตร บทบาทและภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่เป็นหน่วยงานหลักมีภารกิจหลากหลายครอบคลุมการดูแลและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยี หรือการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังในการสำรวจและรายงานข้อมูลความเสียหายของพื้นที่การเกษตร รวมถึงการออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจแก่พี่น้องเกษตรกร ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรทุกท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท

ทั้งนี้การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2568 ได้เน้นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับการเกษตร นโยบายหลักที่มุ่งเน้น คือการยกระดับเกษตรดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ตามแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น ด้วยการต่อยอดโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมถึงส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามเอกสารข้อตกลงในการจัดตั้งสำนักงานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” เป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) และส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้ามาในภาคเกษตรมากขึ้น ต่อยอดขยายผล เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามด้วยภารกิจที่หลากหลายของกรมส่งเสริมการเกษตร จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ทุกคน ให้ความสำคัญกับ “การทำงานเชิงรุก บูรณาการ ร่วมมือ และมีส่วนร่วม” ของทุกภาคส่วน ซึ่งดิฉันเชื่อมั่นในศักยภาพของกรมส่งเสริมการเกษตรในการขับเคลื่อนงานพัฒนาการเกษตรให้ก้าวหน้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกว่า 150 ล้านไร่ เกษตรกรมากกว่า 8 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 50 ปี ล้วนเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ ดังนั้นแผนงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปีงบประมาณ 2568 เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของเกษตรกรเพื่อมุ่งเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรม โดยนักส่งเสริมการเกษตรจะต้องมีข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ วิจัยพัฒนาไปสู่เป้าหมาย รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ โดยการทดลอง ทดสอบ แก้ไขปัญหา สร้างสังคมเกษตรแห่งการเรียนรู้ และ Renewable ใช้การจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อไปสู่ 3 แนวคิดหลักที่จะปรับโฉมภาคเกษตรไปสู่อนาคต ได้แก่ 1. เกษตรกรจะต้องปรับตัวปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง (Adaptive Advantage) ใช้แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบการเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2. เปลี่ยนใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการผลิตภาคเกษตร เพื่อให้เกิดความได้เปรียบและเหมาะสมกับพื้นที่ (Labor Intensive to Science and Technology Intensive) รองรับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจการเกษตร (Transformer Agriculture) 3. ปรับจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่พืชที่หลากหลายเพื่อให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น Single Crop Patterns to Integrate Precision Farming โดยใช้เกษตรแม่นยำ

การขับเคลื่อนจะต้องใช้ 5 กลยุทธ์สำคัญในการช่วยขับเคลื่อน ได้แก่ 1. คนหรือเกษตรกร สร้างทักษะเกษตรกรและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทุกช่วงวัย เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกร รวมถึงแรงงานภาคเกษตรจะต้องเรียนรู้การเกษตรแบบใหม่ นักส่งเสริมการเกษตรจะต้องออกแบบทักษะ หลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ ผลิตสื่อการเรียนรู้ และสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ 2. พื้นที่ หรือ ชุมชน การปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรสู่ระบบอาหารและการเกษตรที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ ออกแบบความเป็นไปได้ ระบุเทคโนโลยีที่ทดสอบ เชื่อมตลาด วางแผนการผลิตการตลาด เพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ 3. งานบริการ พัฒนาระบบโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของชาติ การให้บริการขั้นพื้นฐาน สร้างเจตคติหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4. ตลาด พัฒนาประสิทธิภาพกลไกตลาด สร้างสินค้าเกษตรให้เกิดความแตกต่าง ไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง เพื่อรองรับการเข้าสู่การตลาดบนโลกดิจิทัล 5. การคุ้มครองทางสังคม พัฒนางานบริการเพื่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิตเชิงกลยุทธ์จะเป็นการให้บริการผ่านระบบออนไลน์ มีการบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดและจะต้องมีการเฝ้าระวังเชิงรุก รวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างจริงจัง การขับเคลื่อนผ่าน 22 โครงการทั้งระบบการเพาะปลูกพืช การจัดการดินเพื่อเพิ่มผลิตภาพของดิน การควบคุมและจัดการโรคแมลงศัตรูพืช การจัดการน้ำเพื่อเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การจัดการเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตร การปรับตัวและพลิกฟื้นจากผลกระทบโดยเร็ว ความเชี่ยวชาญธุรกิจเกษตร ความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีภายในชุมชน และการเปิดใจรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องขับเคลื่อน เช่น การขับเคลื่อน 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง การพัฒนากาแฟ เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน SCA การส่งออกกล้วยหอมทอง การทดแทนการนำเข้าข้าวโพดอาหารสัตว์ การส่งเสริม Plant Base food การขับเคลื่อนแม่ฮ่องสอนโมเดล การจัดการศัตรูพืชสำคัญ เช่น หนอนเจาะทุเรียน ใบด่างมันสำปะหลัง รวมถึงพืชอุบัติใหม่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ โดยเกษตรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชน การขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการภาคเกษตร สื่อและกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ และการปรับโครงสร้างการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง (Zoning by Agri Map) เป็นต้น นับเป็นความท้าทายที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าผ่านนักส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรต่อไป.-

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated