หลายวันก่อนนั้นได้มีโอกาสไปร่วมงานสัมมนาเรื่อง “การจัดการธนาคารเชื้อพันธุ์พืชต้อนรับ AEC ปีแรกและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีผลสัมฤทธิ์” โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นแม่งานจัดขึ้น ณ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ จ.ปทุมธานี
หลายคนอาจจะสงสัยว่าประเทศไทยของเรามีธนาคารเชื้อพันธุ์พืชด้วยหรือ?
เรื่องนี้ คุณเสริมสุข สลักเพ็ชร์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยของเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางด้านเกษตรกรรม และเชื่อว่าจะเป็นแหล่งผลิตพืชอาหารและการเกษตรแหล่งใหญ่ของโลก การอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะพืชอาหารไว้พร้อมนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
“ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร มีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งรวบรวมพันธุกรรมพืชที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย นอกจากจะอนุรักษ์ความหลากหลายด้านพันธุกรรมแล้ว จะเป็นการรักษามรดกอันล้ำค่าไว้ให้อนุชนรุ่นหลังใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย”
ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ตั้งอยู่ในอาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืช สิรินธร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคาร พร้อมกับพระราชทานนามอาคารว่า “อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร” และได้สด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2545
ทางด้าน คุณกัญญาภรณ์ พิพิธแสงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ได้ให้รายละเอียดว่า เชื้อพันธุกรรมพืชเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลและเก็บรักษาอย่างดีเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน โดยการอนุรักษ์มี 2 ระยะ ดังนี้
- การอนุรักษ์เมล็ดเชื้อพันธุ์พืชระยะปานกลาง (อุณหภูมิ 5 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ประมาณ 50 %)สามารถเมล็ดเชื้อพันธุ์ได้ประมาณ 5-20 ปี เก็บรักษาเชื้อพันธุ์ได้150,000 ตัวอย่างพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ถูกบรรจุในขวดพลาสติก (PET) ฝาเกลียว ความจุ450 ลูกบาศก์เซนติเมตร บรรจุเมล็ดข้าวได้ 250-300 กรัม
- การอนุรักษ์เมล็ดเชื้อพันธุ์พืชระยะยาว (อุณหภูมิ –10 องศา) สามารถเก็บรักษาได้20-50 ปี เก็บเชื้อพันธุ์ได้ประมาณ 40,000 ตัวอย่างพันธุ์ โดยเมล็ดเชื้อพันธุ์พืชจะถูกบรรจุด้วยระบบสูญญากาศในซองอลูมินัมฟอยล์ ขนาด 120 X200 มม.
“ปัจจุบันเมล็ดเชื้อพันธุ์พืช ที่อนุรักษ์ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช มีจำนวน 32,630 ตัวอย่างพันธุ์ ในจำนวนนี้จะเน้นหนักพืชอาหาร เช่น ข้าวมีถึง 24,852 ตัวอย่าง ข้าวโพด 128ตัวอย่าง ถั่วลิสง 2,020 ตัวอย่าง ถั่วเหลือง2,252 ตัวอย่าง ถั่วป่า 199 ตัวอย่าง ถั่วเขียวผิวมัน 1,204 ตัวอย่าง ผักต่างๆ 174 ตัวอย่าง ฯลฯ”
สำหรับการใช้ประโยชน์จากธนาคารเชื้อพันธุ์พืช จะให้บริการใน 3 เรื่องด้วยกัน
- งานบริการรับฝากเมล็ดพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ทั้งในส่วนของบุคคล หรือหน่วยงานต่างๆ
- การให้บริการเมล็ดพันธุ์ แก่ บุคคล / องค์กร / หน่วยงาน / สถาบันศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยหรือผู้สนใจทั่วไป
- การให้บริการด้านวิชาการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุ์พืช และการดำเนินงานของธนาคารเชื้อพันธุ์พืช เช่น เยี่ยมชม ศึกษาดูงาน ฯลฯ
ผู้ขอใช้บริการสามารถติดต่อได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร ถนนรังสิต-นครนายก (คลอง 6) ปทุมธานี โทร. 02 9046885-95หรือเว็บไซต์ www.doa.go.th/biotech/
จบจากการพูดคุยกับผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน ก็ถือโอกาสเยี่ยมชนธนาคารเชื้อพันธุ์พืช ได้เห็นความก้าวหน้าทางวิชาการเกษตรของประเทศไทย ก็ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าเรามีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นผู้นำทางด้านการเกษตรโลกได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง