17 ปี สื่อมวลชนเกษตร จัดงาน “เกษตรมูลค่าสูง : ทางรอดสู่อนาคตที่ยั่งยืน” พร้อมมอบโล่ “เกษตรกรขวัญใจสื่อมวลชน”

สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย จัดงานครบรอบ 17 ปี (25 ปี รวมพลคนข่าวเกษตร)  ภายใต้แนวคิด “เกษตรมูลค่าสูง : ทางรอดสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากนายไชยา พรหมา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความเป็นกลางทางคาร์บอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดี ภายในงานมีการจัดนิทรรศการและบูธแสดงสินค้าด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ และเกษตรกรกว่า 20 บูธ และเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างสื่อมวลชนสายเกษตร ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการและเกษตรกร  

นายไชยา พรหมา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบัน หากเราไม่เปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรจากแบบดั้งเดิม ก็จะไม่สามารถก้าวพ้นความยากจนไปได้ และหากยังไม่เปลี่ยนวิธีการ ก็จะไม่สามารถเพิ่มขีดศักยภาพการแข่งขัน เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ที่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ เป็นฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้ว่า GDP ภาคการเกษตรของประเทศจะมีอัตราที่ไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แต่ก็มีความจำเป็นที่ประเทศไทยหรือแม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่จะต้องดูแลคนที่อ่อนแอกว่า ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรกลับอยู่ในสถานะความยากจน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับเกษตรกร โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่กระบวนการผลิตที่เรียกว่าเกษตรเพิ่มมูลค่าหรือเกษตรพรีเมี่ยม ซึ่งไม่จำเป็นต้องผลิตจำนวนมาก ผลิตน้อยๆ แต่ต้องเปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรหลายๆ อย่างของพี่น้องเกษตรกร สามารถนำมาดัดแปลงเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้

“แต่ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร ยังยึดมั่นที่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ จึงฝากความหวังไว้กับทุกภาคส่วน และส่วนที่หนีไม่พ้นเป็นอย่างยิ่งคือ การสร้างความเข้าใจถึงมิติความสำคัญภาคการเกษตร ในการที่จะสื่อสารนโยบายสำคัญของรัฐบาลไปสู่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป นั่นคือบทบาทของสื่อมวลชน ดังนั้น ในวันนี้ ถือว่าสื่อมวลชนภาคการเกษตร ได้ทำงานอย่างสุดความสามารถที่จะเป็นสะพานเชื่อม เพื่อนำข่าวสารที่สร้างสรรค์และถูกต้องไปสื่อให้เกษตรกรหรือประชาชน ดังนั้น ผู้สื่อข่าวสายเกษตร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคเกษตรของไทย”นายไชยา กล่าว

ด้าน นายภิญโญ แพงไธสง นายกสมาคมสื่อมวลชลเกษตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยมีอายุครบ 17 เต็มในปี 2567 นี้ แต่หากนับตั้งแต่การรวมตัวของพี่น้องสื่อมวลชนสายเกษตรฯ ที่ตั้งเป็นชมรมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ก็นับรวมได้ 25 ปี หากเปรียบกับคนเราก็เข้าสู่เบญจเพศ เป็นวัยหนุ่มวัยสาวที่มีไฟมีพลังมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้มีกิจกรรมมากมายทั้งด้านวิชาการและด้านสังคม โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นแต่ละครั้ง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาชิกฯ ผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ

สำหรับในปีนี้ สมาคมฯ ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “เกษตรมูลค่าสูง : ทางรอดสู่อนาคตที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นสื่อกลางในฐานะสื่อมวลชน อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมเกษตรกรในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 ที่ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประชากร เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน สร้างความเจริญทางรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง ยังเป็นการให้ความสำคัญกับการยกระดับรายได้ของกลุ่มเกษตรกร ตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้” อีกด้วย

สำหรับในปีนี้ สมาคมฯ ยังได้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “รางวัลขวัญใจสื่อมวลชน” ให้กับเกษตรกรผู้มีความคิดสร้างสรรค์สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและมีคุณูปการต่อวงการเกษตร จำนวน 10 ท่าน ได้แก่

1.คุณไพฑูรย์ ฝางคำ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาอาชีพเกษตร สู่ความยั่งยืนด้วยการปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ สร้างกระบวนการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย สร้างพลังในการขับเคลื่อนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกร

2.คุณจุไรรัตน์ เชิดชิด วิสาหกิจชุมชนข้าวฮางบ้านสุขสำราญ ต.ฝั่งแดง อ.นากลาง จ. หนองบัวลำภู เป็นแกนนำในการรวมกลุ่มชาวนาในพื้นที่เพื่อปลูกแปรรูปครบวงจรจึงช่วยสร้างงาน สร้างรายได้กลับสู่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ในนาม “กลุ่มข้าวฮางบ้านสุขสำราญ” ภายใต้การส่งเสริมของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

3.คุณกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ “ไร่แสงสกุลรุ่ง” อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นคนรุ่นใหม่ ที่สนใจเลี้ยง“ผำ” พืชน้ำที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครอบครัวและต่อยอดให้กับเกษตรกรในชุมชน แปรรูปสร้างความแตกต่างในตลาด เพิ่มมูลค่าและยอดขายให้สูงขึ้น

4.นายอร่าม ทรงสวยรูป เกษตรกรผู้สืบสานพันธุ์ข้าวไทย จากจังหวัดนครราชสีมา อดีตช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ วัย 56 ปี ผันตัวเองเป็นชาวนาตามรอยบรรพบุรุษ เรียนรู้วิถีธรรมชาติ และยึดธรรมะเป็นที่มั่น ได้สร้างสุขทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งมีรายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ ยกระดับครอบครัวและยังช่วยสืบสานพันธุ์ข้าวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

5.คุณวัฒนชัย เกตุพลอย เกษตรกรจาก อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เจ้าของสายพันธุ์ขนุนทองพลอย ที่ให้ผลตลอดปี ผลใหญ่ตั้งแต่ 20-60 กก. ซังน้อย เนื้อแน่น รสชาติหวานกรอบ ยางน้อย เนื้อสีเหลืองทอง โดยร่วมกับคณาจารย์หลายท่านจากหลากหลายสถาบันการศึกษา ในการวิจัยขนุนให้มีอายุหลังเก็บเกี่ยวให้นานขึ้น เหมาะกับการนำเนื้อมาแปรรูป และวางจำหน่ายตามร้านค้าโมเดิร์นเทรดชั้นนำทั่วประเทศ

6.นางสาวธิติมา ตะรุสะ ประธานวิสาหกิจชุมชนภูริธาราพรรณ ต.ห้วยป่าหวาย อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ผู้ยึดแนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9  มาปฏิบัติ โดยได้รับโอกาสจากสำนักงานเกษตรอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ให้เข้าร่วมอบรมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) และได้นำความรู้ที่อบรมมาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ในสวนเพิ่มบุญ ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น กระชาย เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดต่อยอดพัฒนาสินค้าทางการเกษตร นำกระชายมาแปรรูป เพื่อสร่างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ภายใต้วิสาหกิจชุมชนภูริธาราพรรณ

7.นายวิสัน วงศ์เมือง เกษตรกรหัวก้าวหน้าแห่งตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ผู้สืบทอดความรู้และเทคนิคจากครอบครัว ผสมผสานกับความรู้สมัยใหม่ จนสามารถพัฒนาคุณภาพของผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้จากการปลูกกล้วยหอมทองทำให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้น และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรรายอื่นอีกด้วย

8.นายชาลี จิตรประสงค์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งฉะเชิงเทรา เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ปี พ.ศ.2549 เจ้าของ สาริกาฟาร์ม ผู้มุ่งมั่นที่จะผลิตกุ้งสด สะอาด ปลอดภัยไร้สารตกค้าง เพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ที่มีคุณภาพ อย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ

9.นายสมบัติ สุขนันท์ เจ้าของสวนสมบัติอาณาจักรกล้วย ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี  และปลูกกล้วย กว่า 500 ไร่ ที่ปลูกกระจายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี พิจิตร และเชียงใหม่ และเป็นนักสะสมสายพันธุ์กล้วยแปลก กล้วยหายากเกือบ 250 สายพันธุ์ เช่น แส้หางม้า สายน้ำผึ้งเตี้ย นากค่อม นิ้วนางรำ หอมแคระ กล้วยเทพพนม กล้วยขนุน กล้วยน้ำว้าดำ กล้วยร้อยปลี เป็นต้น

10.คุณสิริพงศ์ วราศัย หรือที่คนในวงการกล้วยไม้ เรียกว่า อาจารย์โรจน์ ผู้คร่ำวอด ในวงการล้วยส่งออกรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ  ที่สืบทอดธุรกิจมาจากรุ่นคุณพ่อ ที่ทำธุรกิจกล้วยไม้เป็นรายแรกของไทย โดยรับช่วงต่อมาตั้งแต่ปี 2525 ทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ

นับว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่จะเป็นแกนนำหรือต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าสูงในอนาคตต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated