อวร่วมสกร

“น.ส.ศุภมาส” เผย กระทรวง อว.จับมือ สกร.จัดทำแผน 5 ปีผลิต “ครูนวัตกรให้กับชุมชน” โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้าผลักดันให้เกิด 30,000 หมู่บ้านนวัตกรรมพร้อมก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนึ่งศูนย์หนึ่งอำเภอ ให้ได้ 879 อำเภอ

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามการดําเนินงานของกระทรวง อว.ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) นอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ที่ จ.เชียงใหม่ ว่า ขณะนี้กระทรวง อว.และกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันจัดทำแผน 5 ปีในการผลิตครูนวัตกรให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยปีที่ 1 ตั้งเป้าให้ครู สกร. จำนวน 16,000 คน ได้พัฒนาทักษะ(Upskill) ปรับปรุงทักษะ(Reskill ) และเพิ่มทักษะ(Newskill) และปีที่ 2 เราจะสร้างครูนวัตกรให้ได้ จำนวน 15,000 คน ปีที่ 3 ครู นวัตกรจะสามารถนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ในการพัฒนาหมู่บ้านได้ไม่น้อยกว่า 50,000 เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่ปีที่ 4 ที่จะสามารถผลักดันให้เกิดหมู่บ้านนวัตกรรมให้ได้ 30,000 หมู่บ้าน และปีที่ 5 คือการก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หนึ่งศูนย์หนึ่งอำเภอ ให้ได้ 879 อำเภอ

รมว.กระทรวง อว.กล่าวอีกว่า การจัดทำแผน 5 ปีเป็นการต่อยอดคงวามสำเร็จจากจุดเริ่มต้นของครูนวัตกรในปี 2560 ที่กระทรวง อว. ร่วมกับ สกร. นำครู 31 คน ใน จ.เชียงใหม่ มาพัฒนาศักยภาพด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับชุมชน จนทำให้เกิดโครงการม่อนล้านโมเดล ที่เป็นต้นแบบโมเดลหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 23% “

” จากนั้นในปี 2567 กระทรวง อว.และ สกร. ได้นำโมเดลความสำเร็จนี้มาขยายผล โดยนำร่องใน 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ ตาก และพิษณุโลก และมี 10 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่เข้าไปช่วยขับเคลื่อน ซึ่งได้มีนำองค์ความรู้ด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาพัฒนาหลักสูตร Upskill/Reskill/Newskill หรือการพัฒนาทักษะ ปรับปรุงทักษะ และเพิ่มทักษะใหม่ให้กับครูเหล่านี้ เพื่อสร้างครูนวัตกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีทักษะเฉพาะด้านในการพัฒนาและแก้ปัญหาตามบริบทในพื้นที่ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้าน อววน. มาบูรณาการศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานในพื้นที่ให้กับครู สกร. สู่การเป็นนวัตกรชุมชนที่เป็นที่พึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง” รมว.กระทรวง อว.กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated