27 มีนาคม 2568 สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดสัมมนาวิชาการ “พืชแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ที่ใกล้จะนำไปใช้ประโยชน์และการกำกับดูแล” สร้างการตระหนักรู้สู่สาธารณะชน โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ธัญญ์วนิช ธัญสิริวรรธน์ จากม.เกษตร วิทยาเขตสกลนคร ,ดร.ปิยนุช ศรชัย สทช.กรมวิชาการเกษตร ,ผศ.ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ,ดร.พงศกร สรรค์วิทยากุล สทช.กรมวิชาการเกษตร ,ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผอ.สทช.กรมวิชาการเกษตร ดำเนินรายการโดยทนายวิชา ธิติประเสริฐ อดีต ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยมี ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวเปิดงาน ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ
ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ซึ่งเป็นเทคนิคที่เหนี่ยวนำการกลายพันธุ์ในสิ่งมีชีวิต ไม่มีการถ่ายฝากสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตอื่น มีความปลอดภัยและความแม่นยำสูง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากพืชแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ซึ่งการจัดสัมมนาทางวิชาการในวันนี้ เป็นการจัดครั้งแรกของปี พ.ศ. 2568 สมาคมได้ใช้หัวข้อว่า “พืชแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ที่ใกล้จะนำไปใช้ประโยชน์และการกำกับดูแล” โดยมีเป้าประสงค์เพื่อต้องการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสาธารณะชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนมและประโยชน์ที่จะได้รับ โดยการเผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคนิคการแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ที่ใกล้จะนำมาใช้ประโยชน์ และรวมทั้ง การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือยืนยันให้สาธารณะชนได้รับทราบว่า พืชดังกล่าวไม่ใช่พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ
สำหรับ ผลงานวิจัยโดยสรุปที่นำมาเผยแพร่ในครั้งนี้ประกอบด้วย
1. พันธุ์ฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดกราโฟไลด์สูง พัฒนาโดย ผศ.ดร. อนงค์ภัทร สุทธางคกูล และคณะ จากภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. พันธุ์มะเขือเทศต้านทานโรคเหี่ยวเหลือง พัฒนาโดย ผศ. ดร.ธัญญ์วนิช ธัญสิริวรรธน์ และคณะ จากภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
3. พันธุ์มะละกอที่ต้านทานไวรัสจุดวงแหวน พัฒนาโดย ดร.ปิยนุช ศรชัย และคณะ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
4. พันธุ์สับปะรดที่ป้องกันอาการไส้สีน้ำตาล พัฒนาโดย ดร.พงศกร สรรค์วิทยากุล และคณะ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
5. การเปลี่ยนสีดอกพิทูเนีย พัฒนาโดย ดร. ยี่โถ ทัพภะทัต และคณะ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
6. การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567 โดย ดร.ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางสมาคมได้ทำการประชาสัมพันธ์ เรื่อง “การปรับแต่งจีโนมพืชเพื่อรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง” เมื่อวันศุกร์ที่15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ซึ่งได้สรุปให้เห็นว่าการผลิตพืชในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง และมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว พร้อมทั้งแนะนำให้รู้จักเทคโนโลยีการแก้ไข/ปรับแต่งยีน/จีโนม ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการชะลอและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีต่อการผลผลิตพืช และยังเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การปรับปรุงพันธุ์พืชทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ มากกว่าวิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามปกติ
“เทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม มีศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้มีลักษณะตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะต้านทานโรคพืช ได้แก่ โรคเหี่ยวเหลืองในมะเขือเทศ และโรคจุดวงแหวนในมะละกอ ลักษณะทางคุณภาพ ได้แก่ สับปะรดที่ป้องกันอาการไส้สีน้ำตาล ลักษณะองค์ประกอบของสารสำคัญ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจรที่มีกลุ่มสารแอนโดกราโฟไลด์สูง และลักษณะสีดอกของต้นพิทูเนีย โดยพืชที่ผ่านการปรับแต่งจีโนมสามารถ “ขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร จากกรมวิชาการเกษตร” เพื่อรับรองว่า “ไม่เป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ จีเอ็มโอ มีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และสำหรับการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ จะต้องดำเนินการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ พี่น้องเกษตรกร เพื่อนำพาภาคเกษตรไทยสู่ “ศูนย์กลางการเกษตรและอาหารของโลก” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความกินดี อยู่ดี ของเกษตรกรไทย ภายใต้ หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่เป็นนโยบายที่สำคัญของ รมว.เกษตรด้วย”นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
เชิญชมเกษตรก้าวไกลLIVE สดจากงานสัมมนา-ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภา นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงพืชแก้ไข ปรับแต่งยีน จีโนม ที่ใกล้จะนำมาใช้ประโยชน์ ในงานสัมมนาวิชาการครั้งที่1 ที่โรงแรม มารวย การ์เด้น กทม. https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/7675969852526695
มะละกอ ปรับแต่งจีโนม ที่ใกล้จะนำมาใช้ประโยชน์ ดร.ปิยนุช ศรชัย สทช.กรมวิชาการเกษตร มาให้คำตอบ https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/518616871300771
ผศ.ดร.ธัญญ์วนิช ธัญญศิริวรรธน์ พูดถึงพันธุ์มะเขือเทศที่ต้านทานโรคเหี่ยวเหลือง https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/678831287834707