รู้จักแล้วจะรักนาน ‘ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา’ สินค้า GI พืชเศรษฐกิจขับเคลื่อนสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่จังหวัดยะลาให้การส่งเสริมเป็นสินค้ามูลค่าสูง เนื่องจากเป็นไม้ผลที่นิยมบริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดย ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา หรือ Sa-Ded Nam Yala หรือ Durian Sa-Ded Nam Yala เป็นสินค้าอัตลักษณ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดยะลา สภาพแวดล้อมที่ห้อมล้อมด้วยผืนป่า ภูเขา สายน้ำ แร่ธาตุในดิน จึงส่งผลให้คุณภาพของทุเรียนในพื้นที่แตกต่างจากแหล่งอื่น คือ เนื้อทุเรียนแห้ง ไม่แฉะ รสชาติหวานมัน เส้นใยน้อย คุณภาพดี                                                               

รู้จักแล้วจะรักนาน ‘ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา’ สินค้า GI พืชเศรษฐกิจขับเคลื่อนสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา

ด้านสถานการณ์การผลิตทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ปี 2567 พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้น 96,234 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 91 ของเนื้อที่ปลูกทั้งจังหวัด เนื้อที่ให้ผล 66,788 ไร่ ผลผลิตรวม 76,739 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,149 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรปลูกทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ สามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ที่เหมาะสมควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เกษตรกรในพื้นที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายนของทุกปี หรืออาจจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปี ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่นิยมปลูก (ราคาเฉลี่ยปี 2567 ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด) ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง เกรดคละ ราคา 85 บาท/กิโลกรัม เกรดส่งออก AB ราคา 65.50 บาท/กิโลกรัม พันธุ์ก้านยาว เกรดคละ 57.58 บาท/กิโลกรัม และพันธุ์ชะนี เกรดคละ 48.89 บาท/กิโลกรัม

รู้จักแล้วจะรักนาน ‘ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา’ สินค้า GI พืชเศรษฐกิจขับเคลื่อนสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

“สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา GI ทางจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเกษตร ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการบริโภคทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงตลาดออนไลน์ สร้างแบรนด์ ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และแปรรูปวัสดุเหลือใช้จากเศษทุเรียนเป็นสินค้าสร้างรายได้” ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ ภาพรวมของทุเรียนจังหวัดยะลา พบว่า มีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 14 แห่ง ที่ดำเนินการรวบรวมผลผลิตทุเรียน เพื่อกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด และมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและตลาดทุเรียน 1 แห่ง โดยดำเนินการคัดเกรด แยกผลผลิต สู่ช่องทางต่างๆ ตรวจสอบ ย้อนกลับ ขับเคลื่อนการจัดการทุเรียนอ่อน ได้ถ่ายทอดความรู้การแปรรูปแก่องค์กรเกษตรกร และส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา ซึ่งบูรณาการร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด จัดตั้งศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช.) ในพื้นที่ศูนย์ดินปุ๋ยชุมชนของสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา 2 แห่ง ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา เพื่อดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนาปุ๋ยไว้ใช้ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา และอำเภอยะหา อีกทั้ง กลุ่มเกษตรกรทั่วไปในอำเภอรามัน ได้มีการผลิตไตรโคเดอร์มา สารชีวภัณฑ์ แหนแดง แมลงหางหนีบ กำจัดเพลี้ย BS DOA20W16 และเห็ดเรืองแสงสิริรัศมี เพื่อแก้ปัญหาลดการใช้สารเคมีในการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าและหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา GI สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรือ อีเมล์ zone9@oae.go.th   

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated