วันที่ 25 เม.ย. 2568 นายสัญญา อิ่นแก้ว ประธานกลุ่มชาวนาอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนชาวนาในพื้นที่อำเภอแม่อาย นำคณะกว่า 80 ราย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีราคาข้าวตกต่ำ โดยระบุในหนังสือว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำอย่างรุนแรงในขณะนี้ โดยราคาข้าวเปลือกในขณะนี้มีราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวสันป่าตองที่พ่อค้าไม่รับซื้อ ชาวนาไม่มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ในการนี้กลุ่มชาวนาอำเภอแม่อาย ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้กรุณาช่วยเหลือ หามาตรการเพื่อแก้ไขราคาข้าว

ทั้งนี้กลุ่มชาวนาอำเภอแม่อายมีข้อเรียกร้องด้วยกัน 3 มาตรการ ได้แก่ 1. ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการนอกพื้นที่มารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคานำตลาด 2. ดำเนินการหามาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกสดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท และ 3. ขอความกรุณาประสานงานหน่วยงานภาครัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อนการเก็บเกี่ยวเร็วๆ นี้ โดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพาณิชย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการควบคุมการรับซื้อให้เป็นไปตามข้อกำหนด

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่มี นางกนกรัตน์ ยุกติรัตน์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันรับหนังสือ พร้อมให้ตัวแทนร่วมประชุมหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีโรงสีนอกพื้นที่หลายโรงแจ้งความประสงค์อยากเข้ามาซื้อข้าวในจังหวัดเชียงใหม่ ถ้าหากพื้นที่มีพื้นที่ให้ดำเนินการรับซื้อก็จะแจ้งทางโรงสีที่มีความประสงค์จะเข้ามาซื้ออย่างเร่งด่วนได้ทันที

ด้าน นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงที่ประชุมว่า มีผู้ประกอบการโรงสีภายนอกประสงค์จะซื้อข้าวสันป่าตองเป็นจำนวนมาก โดยได้ติดต่อประสานมาทางเกษตรจังหวัด หากทางพื้นที่อำเภอแม่อายพร้อมต้องการให้เขาเข้ามารับซื้อช่วงไหน ทางเกษตรจังหวัดจะเป็นผู้ประสานงานให้ เพราะชาวนาแม่อายลงทะเบียนไว้กว่า 28,000ไร่ ซึ่งมากกว่าอำเภออื่นๆ ฉะนั้นโรงสีนอกพื้นที่จะเข้ามาต้องเข้าแม่อายก่อนอำเภออื่น คาดว่า ราคาจะตกอยู่ที่ 12,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นที่พอใจของกลุ่มชาวนาก่อนที่จะแยกย้ายกลับบ้าน
