ลุ่มน้ำยม เป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำหลักของประเทศไทย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 23,618 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 10 จังหวัด คือ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร  สุโขทัย  พิษณุโลก พิจิตร และนครสรรค์ ลักษณะของลุ่มน้ำนี้จะวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้  ทิศเหนือเริ่มจากทิวเขาผีปันน้ำติดกับลุ่มน้ำโขง ทิศใต้ติดกับลุ่มน้ำปิง ทิศตะวันตกติดกับลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำปิง ทิศตะวันออกติดกับลุ่มน้ำน่าน โดยมีแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักของลุ่มน้ำ

แม่น้ำยม มีต้นกำเนิดจากดอยขุนยวมในทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดพะเยา ไหลผ่านหุบเขาที่มีความลาดชัน  มีที่ราบแคบๆ ริมแม่น้ำ จากนั้นไหลออกสู่ที่ราบในจังหวัดแพร่ และไหลเข้าสู่หุบเขาทางตะวันตก แล้วไหลลงใต้เข้าสู่ที่ราบที่จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำยมจะไหลคู่ขนานมากับแม่น้ำน่าน จากนั้นจะไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่จังหวัดนครสวรรค์

ประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริม เหล็กบานระบายชนิดบานโค้ง
ประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริม เหล็กบานระบายชนิดบานโค้ง

อย่างไรก็ตามลุ่มน้ำยม เป็นลุ่มน้ำที่มีปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้งค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากขาดแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน เพื่อช่วยชะลอและเก็บกักน้ำไว้ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่พอเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ว ก็จะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำทันที ชาวบ้านต้องนำดินลงไปทำฝายกันน้ำชั่วคราวเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ส่งผลให้ปริมาณตะกอนดินในแม่น้ำยมมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง

ลุ่มน้ำยมตอนล่าง เริ่มตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย ลงมาจนถึงจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ มีสภาพการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำยม ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม (พื้นที่ระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน) จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบอยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยรับน้ำมาจากแม่น้ำน่าน ที่มีเขื่อนสิริกิติ์ เและเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ ทำให้พื้นที่ฝั่งซ้ายมีความอุดมสมบูรณ์

ขณะที่พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม แม้จะมีสภาพเป็นพื้นที่ราบเช่นเดียวกันแต่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงทุกปี

ในปัจจุบันในแม่น้ำยมตอนล่าง มีการสร้างฝายเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำหลายแห่ง เช่น ฝายสามง่าม และฝายพญาวัง เป็นต้น จากนั้นก็จะสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเข้าสู่พื้นที่การเกษตร อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูแล้งเกือบตลอดแนวแม่น้ำยมตอนล่าง ลำน้ำมีสภาพแห้งขอด จำเป็นจะต้องบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับลุ่มน้ำน่านที่มีศักยภาพความพร้อมมากกว่าเนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ สามารถควบคุมการบริหารน้ำได้ ในช่วงฤดูน้ำหลาก ก็ชะลอการปล่อยน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เพื่อที่จะผันน้ำจากแม่น้ำน้ำยมไปยังแม่น้ำน่านให้ช่วยระบายน้ำได้ปริมาณที่มากขึ้น ส่วนฤดูแล้งก็ผันน้ำจากลุ่มน้ำน่านมาช่วยบรรเทาความเดือนร้อนจากการขาดแคลนน้ำของลุ่มน้ำยม

อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำตามแนวทางดังกล่าว สามารถแก้ปัญหาได้บางส่วนเท่านั้น จำเป็นจะต้องพัฒนาอาคารบังคับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นฝาย หรือประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง และการบริหารจัดการร่วมกับลุ่มน้ำน่านมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์  รองอธิบดีกรมชลประทาน
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานมีแผนที่จะสร้างอาคารบังคับน้ำ ประเภทประตูระบายน้ำ ในแม่น้ำยมตอนล่างเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่งซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบด้วย

  1. โครงการประตูระบายน้ำท่าแห ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตรป็นประตูระบายน้ำคอนกรีต เสริมเหล็กบานระบาย ชนิดบานโค้ง ขนาด 10.00 x 9.00 เมตร จำนวน 4 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำได้ 16.75 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์  81,111 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลบางระกำ ตำบลปลักแรด  ตำบลวังอิทก ตำบลพันเสา ตำบลบ่อทอง ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และ ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
  2. โครงการฝายบ้านวังจิก ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริม เหล็กบานระบายชนิดบานโค้ง ขนาด 12.50 x 8.00 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำได้ 6.63 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 37,397 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี ตำบลรังนก ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม ตำบลวังจิก ตำบลไผ่รอบ ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
  3. โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ตำบลท่านางงาม อำบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กบานระบายชนิดบานโค้ง ขนาด 12.50 x 8.00 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำได้ 8.24 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 52,875 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลท่านางงาม ตำบลคุยม่วง ตำบลบางระกำ ตำบลบึงกอก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

และ4. โครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ตำบลไผ่ ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบาย ชนิดบานโค้ง ขนาด 10.00 x 9.00 เมตร จำนวน 4 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำได้ 3.71 ล้าน ลบ.ม.มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน  28,263 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลวังจิก  ตำบลไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ตำบลบางลาย อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร

“การดำเนินการศึกษา EIA อาคารบังคับน้ำทั้ง 4 แห่งในลุ่มน้ำยมตอนล่างดังกล่าวได้ศึกษาครอบคลุมในทุกๆด้าน ทั้งทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม โดยให้ประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูล ข้อโต้แย้ง หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ปรากฏว่าประชาชนในพื้นที่แทบทุกคนเห็นด้วยที่จะให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโดยเร็ว ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะสรุปเรื่องนำเสนอต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หากไม่ติดปัญหาอะไร น่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2562” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

 

จุดเปิด-ปิดประตูน้ำ
จุดเปิด-ปิดประตูน้ำ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เคยพระราชทานแนวพระราชดำริ “ศาสตร์พระราชา” ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซากแบบยั่งยืน ว่า …ต้องมีการดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำสาขาของแม่น้ำยม การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ตลอดจนการขุดลอกคูคลอง หนอง บึง เพื่อกักเก็บน้ำและระบายน้ำในช่วงหน้าน้ำหลาก…”

กรมชลประทานได้นำ “ศาสตร์พระราชา” มาแก้ปัญหาลุ่มน้ำยม ทั้งดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในสาขาของลุ่มน้ำยมแล้วหลายแห่ง และกำลังจะดำเนินการก่อสร้างอีกหลายแห่ง การผันน้ำเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำน่านกับลุ่มน้ำยมก็ดำเนินการแล้ว การขุดลอกคูคลอง หนอง บึง เพื่อกักเก็บน้ำก็ดำเนินการแล้วเช่น ยิ่งกว่านั้นยังได้ต่อยอดวางแผนดำเนินโครงการแก้มลิงพื้นที่ลุ่มต่ำเหนือ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะมีมากถึง 69 แห่ง ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ สามารถเก็บกักน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อรอการระบายได้ 2,049 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) อีกด้วย

จะเหลือแต่การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำที่สามารถเก็บน้ำรวมได้มากพอ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาลุ่มน้ำยมให้สมบูรณ์แบบเท่านั้นที่ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เลย ได้แต่รอ…แล้วก็รอ  มานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว  ยังไม่เป็นจริงเลย…

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated