“อิสราเอล” เป็นประเทศที่อยู่กลางทะเลทราย แห้งแล้ง ทั้งน้ำและความชื้นมีน้อย แต่สามารถผลิตสินค้าเกษตร  ไม่เพียงบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ยังเหลือส่งขายออกสู่ตลาดชั้นนำทั่วโลกอีกด้วย

เทคโนโลยีแก้ภัยแล้ง ด้วยมันสมองของมนุษย์มีมาอย่างยาวนานแล้ว แต่ที่ประเทศอิสราเอลโด่งดังเรื่องนี้ เพราะว่าเอาภูมิปัญญาของมนุษย์มาศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง จึงสู้ภัยธรรมชาติได้ดีกว่าประเทศอื่นๆมาก

ภัยแล้งที่มาเยือนเรา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่อยู่กลางทะเลทราย ห่างชั้นกันมาก ขอให้ตั้งสตินำภูมิปัญญาชาวบ้าน และ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจากนักวิชาการมาใช้ น่าจะแบ่งเบาความเดือดร้อนของประชาชนหรือเกษตรกรได้ค่อนข้างดีทีเดียว

ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ติดตามคณะสมาคมสื่อมวลเกษตรแห่งประเทศไทยเดินทางไปศึกษาดูงานการท่องเที่ยว และ การแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่จังหวัดกาญจนบุรี  ต้องยอมรับเลยว่า ไม่ว่าฤดูร้อนหรือฝนหรือหนาว ที่นี่มีนักท่องเทียวทั้งปี เนื่องจากมีแหล่งให้เที่ยวทั้งประวัติศาสตร์ และธรรมชาติมากมาย

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนั้น แม้ว่ากาญจนบุรีมีแหล่งเก็บน้ำ ทั้งฝายและเขื่อนมากที่สุดของประเทศไทย ก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ  อย่างไรก็ตาม “ศักดิ์ สมบุญโต”  ผู้ว่าฯ ขวัญใจชาวบ้านที่เพิ่งย้ายมาจังหวัดแพร่เมื่อปลายปีที่ผ่าน ได้นำประสบการณ์ทั้งเทคโนโลยี และภูมิปัญญาชาวบ้าน มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาและเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรเมืองกาญจน์จนเป็นรูปธรรมแล้ว

“ตอนนี้เรากำลังให้ชาวบ้านหันมาทำไร่นาสวนผสมมากขึ้น เพราะว่าทำนาปลูกข้าวอย่างเดียวมันเสี่ยง ราคาก็ไม่ดี และยังเจอปัญหาเรื่องภัยแล้งอยู่ด้วย ทางจังหวัดจึงเสาะหาช่องทางลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร  โดยส่งเสริมให้ทำไร่นาสวนผสม ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฏีใหม่ เป้าหมาย 100 ราย จนขณะนี้เราได้ปรับปรุงพื้นที่ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปลูกผัก ไม้ผล ไปแล้ว 25 ราย โดยผ่านคัดเลือกอย่างดี เพื่อสร้างผู้นำด้านนี้ และจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรรายใหม่ๆต่อไป” ผู้ว่าฯ กล่าว

คุณสิรศักดิ์ สนสุรัตน์ เกษตรกรบ้านนางแอ้ง ต.หนองหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี มีดีกรีปริญญาตรีวิศวะ เดิมทำนา 10 ไร่ เจอปัญหาทั้งผลผลิตตกต่ำ และภัยแล้ง จึงสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทางจังหวัดก็เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ โดยขุดบ่อน้ำให้ 4 ไร่ (ขนาดบ่อน้ำ32×180 ม.)เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้รดต้นไม้ และภายในบ่อก็สามารถเลี้ยงปลากินพืชได้

ภัยแล้ง-วิกฤตคือโอกาส01

“ไร่นาสวนผสมของผมนั้นจะไม่เน้นปลูกข้าวไว้ขาย แต่ทำเพียง 1 ไร่ เพื่อไว้กินในครอบครัว เราจะสร้างรายได้จากการปลูกผัก ไม้ผล และปศุสัตว์ คือเลี้ยงหมูหลุม (ล่าสุดทางปศุสัตว์ส่งมาให้แล้ว จำนวน 4 ตัว) แต่สิ่งที่ผมคาดหวังไว้มาก คือ การเลี้ยงปลา ซึ่งตอนนี้ได้ปล่อยปลานิล กับปลายี่สกไปอย่างละ 30,000 ตัว เมื่ออายุครบ 8 เดือนก็ทยอยจับขายได้แล้ว และเตรียมวางแผนเลี้ยงปลาดุกในกระชัง ตามริมบ่อด้วย ซึ่งผู้ว่าฯ บอกว่า มันสามารถมีรายได้เร็วเพียง 3-4 เดือนก็จับขายได้แล้ว เราต้องเชื่อท่าน เพราะท่านมีประสบการณ์” คุณสิรศักดิ์ กล่าว

ผู้ว่าฯ ไม่เพียงแนะนำพันธุ์ปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อเท่านั้น แต่ยังบอกวิธีทำสูตรอาหารสัตว์น้ำต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ให้คำปรึกษาการขุดบ่อน้ำเลี้ยงปลาแบบประยุกต์ด้วย

การขุดบ่อเก็บน้ำหรือใช้เลี้ยงปลาทั่ว ๆ ไป จะมีความลึก 1-2 เมตรเท่านั้น และไม่มีการยกสูงจากพื้นดิน แต่สำหรับที่นี่ผู้ว่าฯ แนะนำ ขุดบ่อลึก  2 เมตร และนำดินไปสร้างขอบบ่อยกสูงพื้นเดิมจาก 3 เมตร  หน้ากว้างคันดิน 3 เมตร  ทั้งนี้เพื่อไว้ปลูกพืชผักสวนครัว

เมื่อขุดบ่อเสร็จ คุณสิรศักดิ์ จะนำน้ำเข้าบ่อสูง 4 เมตรเศษ โดยน้ำลำเลียงมาจากแม่น้ำแควน้อย ผ่านคลองระบายน้ำมาถึงที่ดินของตนเองและมาพักไว้ที่บ่อน้ำเล็กที่อยู่ติดกัน จากนั้นใช้เครื่องสูบน้ำผันเข้าบ่อใหญ่เป็นน้ำต้นทุน และที่มุมบ่อจะนำฟางข้าวมาผูกวางซ้อน ๆกัน พร้อมกันนั้นได้เติมขี้ไก่ลงไปและราดด้วยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อสร้างแพลงก์ตอนพืชและสัตว์หรือไรแดง ไว้สำหรับเป็นห่วงโซ่อาหารให้กับปลาวัยอ่อนต่อไป

“ช่วงที่มีการการขุดบ่อนั้น  ผู้ว่าฯสั่งให้รถแมคโครเดินย้ำทั่วบ่อ เพื่อให้พื้นบ่อแน่น และที่คันบ่อจะบดอัดเป็นชั้นๆ ไม่ใช่ตักดินมาวางกองๆกัน แต่ให้รถทยอยตักดินเป็นหน้าๆ และวิ่งรอบบ่อหลายเที่ยว ทำอย่างนี้ดินจะแน่น”

“ก่อนขุดเพื่อนบ้านเข้ามาคุยว่า วิธีนี้มันจะเก็บน้ำได้หรือ เพราะว่าน้ำอยู่เหนือกว่าพื้นดินเดิม 2-3 เมตร แต่หลังจากขุดเสร็จปล่อยน้ำเข้าไป ไม่มีการซึมเลย เป็นวิธีการที่เยี่ยมยอดมากจริงๆ ผู้ว่าฯบอกว่า การขุดบ่อแบบนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี มีข้อดีหลายอย่าง ไม่ใช่เก็บกักน้ำได้ปริมาณมากเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีออกซิเจนในน้ำมากขึ้น ปลาหรือสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็จะเจริญเติบโตไวด้วย”

สำหรับอาหารปลานั้น ช่วงวัยอ่อนจะกินพวกไรแดงและเสริมด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป หลังจากนั้นคุณสิรศักดิ์จะผลิตอาหารเอง ตามคำแนะนำของผู้ว่าราชการที่ได้สูตรผลิตอาหารสัตว์น้ำต้นทุนต่ำจากแม่โจ้ ซึ่งประกอบด้วยกันดังนี้ รำละเอียด 10 กก. ฟอสเฟต 5 กก. มูลไก่ไข่แห้ง 25 กก. ปลายข้าว 10 กก. น้ำมันพืช 0.33 กก. นำมาใส่เครื่องบดและอัด รวม ๆกัน ได้ปริมาณน้ำหนัก 50 กก. ในขณะต้นทุนวัตถุดิบต่ำเพียง 200-300 บาทเท่านั้นเอง

“เราจะผลิตอาหารเป็นก้อน ๆเท่าฝ่ามือ อัดให้แน่น จากนั้นวางในตะกร้าพลาสติก ซึ่งเป็นภาชนะให้อาหาร ยึดติดกับราวไม้ไผ่ ปลาจะตอดกินอยู่ตลอด เมื่ออาหารหมดตะกร้าก็ลอยน้ำขึ้น บางครั้งปลาก็ติดขึ้นมาด้วย ทำให้เราตรวจเช็คสุขภาพไปในตัวด้วย ว่าสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แทบจะไม่มีปัญหา เพราะว่าที่เน้นเลียนแบบธรรมชาติเป็นหลัก”

เกี่ยวกับการทำอาหารปลาขึ้นใช้เอง ผู้ว่าฯให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากเกษตรกรไปซื้ออาหารสำเร็จรูปจากท้องตลาดมาเลี้ยงปลา จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงมาก เพราะว่าราคาค่าอาหารประมาณ 30 บาทต่อกก. โดยทั่ว ๆ ไป อัตราแลกเนื้อของสัตว์น้ำ อยู่ที่ปริมาณอาหาร 1.5 กก.จะได้ผลิตปลา 1 กก. ซึ่งหมายความว่า จะต้องลงทุนซื้ออาหารสูงถึง 45 บาทต่อกก.เลยทีเดียว

“สูตรอาหารที่ผลิตขึ้นมาเอง ตกกก.ละ 5-6 บาทเท่านั้น ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ทั้งปลากินพืช หรือปลากินเนื้อ พวกปลาดุกก็สามารถเติบโตได้ดีเหมือนกัน ซึ่งจะทดลองในเร็ว ๆนี้  โดยจะเลี้ยงในกระชัง เมื่อมีเศษอาหารเหลือ พวกปลากินพืช ปลานิล และยี่สก ก็จะคอยเก็บกินเศษอาหารต่อไป ซึ่งวิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย เพราะว่าเราเลียนแบบธรรมชาติ และเมื่อถึงเวลาจับปลาขายก็จะใช้อวนลาก ทยอยออกขายไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ ประหยัดต้นทุน และน้ำจริง ๆวิธีการนี้“

น้ำจากบ่อเลี้ยงปลาส่วนหนึ่งคุณสิรศักดิ์ ก็นำไปรดผัก และไม้ผล ในปริมาณที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโต และยังเป็นปุ๋ยบำรุงพืชอย่างดีด้วย

คุณสิรศักดิ์ เป็นเพียงเกษตรกรรายหนึ่งในการทำไร่นำสวนผสม ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่ผู้ว่าฯเข้าไปส่งเสริมแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยสั่งงานผ่านหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ รวมทั้งประมง ปศุสัตว์ ฯลฯ และบางครั้งแวะเยี่ยมเยือนถึงไร่นาของชาวบ้าน อย่างเช่นในวันนี้

เป้าหมายของผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี “ศักดิ์ สมบุญโต” ต้องการให้พี่น้องเกษตรกรกับมีความสุขกับอาชีพอย่างพอเพียง แม้ว่าจะประสบภัยพิบัติ แต่ต้องฝ่าฟันกันไปหาได้  ดั่งคำพูดที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ที่ไหนมีวิกฤต…ที่นั่นคือโอกาส

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated